มิติทางสังคมในการลดปัญหาการทำแท้ง
โดย อำไพ มีสิทธิ์
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่องมิติทางสังคมในการลดปัญหาการทำแท้ง มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานความต้องการในการทำแท้ง และเพื่อใช้มิติทางสังคมในการลดปัญหาการทำแท้งโดยกระบวนการมีส่วนร่วม โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ การศึกษาจากเอกสารและการศึกษาภาคสนาม โดยใช้วิธีการสังเกต การสัมภาษณ์ ผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจง ประกอบด้วยผู้ทำแท้ง (จม๊อบ) กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15 – 44 ปี วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล ตามแนวคิดทฤษฎีมานุษยวิทยา และแนวคิดความเชื่อด้านสุขภาพของเบคเกอร์และคณะ(1974) ผลการศึกษา พบว่า กระบวนการมีส่วนร่วมช่วยลดปัญหาการทำแท้งได้ เนื่องจากมีการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เป็นความร่วมมือของวัด โรงเรียน พระสงฆ์ และประชาชนในท้องถิ่นโดยจากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักและการสรุปผลจากการสัมภาษณ์ พบว่า ทุกคนไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง เนื่องจากเป็นการฆ่าคน ผิดศีล 5 ตามหลักของศาสนาพุทธ และไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมอีกด้วย
บทนำ
ขณะที่โลกก้าวเข้าสู่สภาวะเพียงนิ้วคลิกชีวิตก็เปลี่ยน แต่เรื่องราวของกรรมกลับดูจะมีสถานะและรูปลักษณ์ไม่แตกต่างจากยุคพระเวท แม้ในแง่หนึ่งพลังของกรรม จะสามารถสะกดความละโมบ โหดร้าย รุนแรง ให้อ่อนจางบางลงในความรู้สึกของมนุษย์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการติดต่อสื่อสารส่งผลให้เรื่องราวเกี่ยวกับกรรมได้กลายเป็นอีกหนึ่ง สินค้าต้นทุนต่ำ ที่มีผู้นิยมบริโภคสูง ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความผันผวนทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เหล่า ‘ยอดมนุษย์’ ซึ่งมีความสามารถพิเศษในการสแกนกรรม ปรากฏโฉมเป็นผู้ชี้นำหนทางสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ทนทางเศรษฐกิจในระดับปัจเจก ซึ่งถูกอ้างว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของกรรม ในอดีต โดยเฉพาะกรรมยอดนิยมที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นต้นเหตุของปัญหา (ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจส่วนบุคคล) ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการทำแท้ง สิ่งที่น่าสนใจจากคำตัดสินของเหล่าผู้นำลัทธิกรรมนิยมทางเศรษฐกิจ ก็คือ ผลกรรม
นักมานุษยวิทยาไม่ได้มองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดหรือไม่ผิด แต่ให้ความสำคัญกับ ความหมายที่คนกลุ่มนั้นหรือคนในสังคมนั้นมีต่อเรื่องนั้นๆ และภายใต้ความหมายนั้นเขาจัดการให้ตัวเขาเองอยู่รอดในสังคมที่มีระบบโครงสร้างอย่างไร งานของนักมานุษยวิทยานำเอานัยยะสำคัญนั้นขึ้นมาและทำงานต่อไป จากงานวิจัยที่ได้ไปสัมภาษณ์ผู้ที่มีประสบการณ์ท้องไม่พร้อม 80 คน ในปี 2545 ซึ่ง 20 คน ทำแท้งมาแล้วปลอดภัยดี อีก 20 คนทำแล้วมีภาวะแทรกซ้อน ขณะที่ 20 คนยังไม่ได้ตัดสินใจจะทำหรือไม่ทำ ส่วน 20 คนสุดท้ายเก็บท้องไว้ พบว่าไม่มีสักคนเดียวที่บอกว่าตัวเองไม่ผิด ทุกคนพูดเหมือนกันว่า รู้สึกแย่ ทุกวันนี้ใส่บาตร ทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้กับเด็กที่ไม่ได้คลอด และพิธีซิโกเด็ก หรือพิธีทำบุญส่งวิญญาณทารกแท้ง ชี้ให้เห็นว่าคนที่ไปทำแท้งด้วยเหตุผลใดก็ตามเขารู้สึกผิดบาป เพราะเขาเกิด และเติบโตขึ้นมาในสังคมไทยไม่ว่าศาสนาใดเราจะเห็นโครงสร้างทางวัฒนธรรมครอบงำเขาอยู่อย่างแน่นหนา จากตัวอย่างหญิงชาวบ้านลูก 4 ซึ่งผ่านการทำแท้งมาแล้ว 5 ครั้ง เธอให้เหตุผลว่าเลี้ยงไม่ไหวเพราะหาเช้ากินค่ำ แม้จะทำหมันแล้วก็ยังมีลูกอีก สามีจึงไม่ยอมให้ทำอีก เพราะเสียเวลาทำมาหากิน ส่วนกรณีที่กลัวกันว่าหากกฎหมายอนุญาตจะทำให้เกิดการทำแท้งเสรีนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะการทำแท้งเสรีหมายถึงอยากทำเมื่อไหร่ก็ทำได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เมื่อทำแล้วจะรู้สึกปลอดจากพันธนาการทางสังคม วัฒนธรรมและศาสนา ปัจจุบันกฎหมายห้ามทำแท้งไม่มีผลในทางปฏิบัติ ขณะที่แพทยสภาให้ทำแท้งได้หากมีผลต่อสุขภาพจิตของหญิงตั้งครรภ์นั้น (กนกวรรณ ธราวรรณ. 2543 : 25)
ปัญหาแม่วัยรุ่นตั้งครรภ์และคลอดบุตรเป็นเรื่องที่น่าห่วง ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากตัวเลขในปี 2552 มีวัยรุ่นหญิงอายุ 15 ปีตั้งครรภ์ไม่พร้อมสูงถึง 1 หมื่นคน และทารกที่เกิดสุขภาพไม่แข็งแรง น้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน บางรายน้ำหนักตัวเพียง 500 กรัมทั้งยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เด็กวัยรุ่นและผู้หญิงที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมโทรศัพท์มาปรึกษาเกี่ยวกับการทำแท้งประมาณ 200 คนต่อเดือน หากนับรวมกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและไม่กล้าโทรศัพท์มาปรึกษาตัวเลขจะเพิ่มมากขึ้น เป็นปัญหาที่น่าห่วง ทั้งยังสะท้อนถึงการหาทางออกไม่ได้ของผู้หญิงตั้งครรภ์ แต่บางครั้งการตั้งครรภ์และการให้กำเนิดบุตรมักจะนำความชื่นชมยินดีมาสู่สตรีที่ตั้งครรภ์และครอบครัวอย่างมากถ้าการตั้งครรภ์นั้นเกิดขึ้นในบุคคลที่มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคม ในทางตรงกันข้ามถ้าการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในผู้ที่ไม่พร้อมในทุก ๆ ด้านก็จะทำให้การตั้งครรภ์นั้นเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมามากมายทั้งทางด้านสุขภาพของมารดา ครอบครัวและสังคม
จังหวัดสุรินทร์ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้เล็งเห็นความสำคัญและสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของสังคมในปัจจุบัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม อาทิเช่น ยาเสพย์ติด ปัญหาความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายในกลุ่มวัยรุ่น ปัญหาครอบครัว การพัวพันกับอบายมุข เหล้า การพนัน ซึ่งนำมาสู่ภาวะเสี่ยงอื่น ๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การมั่วสุมทางเพศ การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และการทำแท้ง หรือแม้กระทั่งการเสี่ยงต่อการกระทำผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้ก็พบว่าขณะนี้ปัญหาวัยรุ่น โดยเฉพาะปัญหาพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมของวัยรุ่นกำลังกลายเป็นปัญหาสังคมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน เช่น เด็กผู้หญิงถูกข่มขืนกระทำชำเรา การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควรจนตั้งครรภ์ การทำแท้ง รวมถึงการติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มาจากหลายปัจจัย การมีสื่อทางอินเตอร์เน็ตกระตุ้นอารมณ์เพศ มีสถานเริงรมย์ที่เอื้อให้ประชาชนหมกมุ่นทางเพศเพิ่มขึ้น รวมทั้งสถาบันครอบครัวและศาสนาที่อ่อนแอลง จึงทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา จากการที่ปัญหาการทำแท้งในวัยเจริญพันธุ์มีอัตราการเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ต้องมีการดำเนินการแก้ไขเพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นและลดอัตราการเพิ่มจำนวนผู้ทำแท้ง เพื่อลดภาวะเสี่ยงของโรคต่าง ๆ และปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาหลังการทำแท้งด้วย สถานการณ์การทำแท้งในอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ปี 2551 มีจำนวน 1,302 คน ปี 2552 มีจำนวน 1,403 คน ปี 2553 มีจำนวน 1,702 คน ในส่วนของตำบลแกใหญ่ปี 2551 มีจำนวน 110 คน ปี 2552 มีจำนวน 124 คน ปี 2553 มีจำนวน 133 คน (สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ . 2554 : 36)
จากการสัมภาษณ์การลงพื้นที่ภาคสนามได้ข้อมูลที่เป็นเชิงประจักษ์เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง คือ หมอตำแยยังมีวิธีการในการทำแท้ง 3 ขั้นตอน คือ หนึ่งการใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้หยิกปากมดลูกและเลาะปากมดลูกเพื่อให้มดลูกเปิด สองดันปากมดลูกขึ้นใช้นิ้วหัวแม่มือกดที่คอมดลูกจนเกิดเสียงดัง และสามกดที่เหนือหัวเหน่าด้วยหัวแม่มือทั้งสองข้างพร้อมกัน การกระทำเช่นนี้จะทำให้ได้รับอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งซึ่งมีมากมายหลายประการ เช่น ปวดท้องมาก ตกเลือด มีไข้สูง มดลูกทะลุ ปากมดลูกฉีกขาด อันตรายจากยาชาและยาสลบ ภาวะเลือดไม่แข็งตัว ภาวะโซเดียมคั่งในเลือด ภาวะพิษจากน้ำเนื่องจากได้รับออกซิโทชินจำนวนมาก การอุดกั้นของหลอดเลือดดำในปอดจากน้ำคร่ำหรือฟองอากาศ ผู้ที่ทำแท้งบ่อย ๆ จะทำให้เป็นหมัน แท้งซ้ำและการตั้งครรภ์นอกมดลูกในเวลาต่อมา
การทำแท้งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมส่งผลต่อสภาวะจิตใจและคนในสังคมไม่ยอมรับ เป็นผลกรรมและเป็นตราบาปติดตัวไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล โดยแม้แต่ในกำแพงของนครวัดก็ยังมีการแกะสลักหินเป็นภาพของการลงโทษผู้ที่ทำแท้ง โดยจากการสัมภาษณ์ไกด์นำเที่ยวที่นครวัด เมืองเสียบเรียบ ประเทศกัมพูชานั้น สรุปได้ว่า
“การทำแท้งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม เป็นเวรเป็นกรรมติดตัว และเมื่อเสียชีวิตไปก็จะตกนรกและถูกทำโทษ”
(ปิติ โรล. 2554 : ธันวาคม 24)
“คนเขมรจะไม่ให้ทำแท้งเพราะจะเป็นบาป ”
(มา ทาล. 2554 : ธันวาคม 24)
นอกจากการสัมภาษณ์ชาวต่างประเทศถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำแท้งแล้วยังมีการสัมภาษณ์คนในประเทศไทยเพื่อทำการเปรียบเทียบถึงวามคิดเห็นเกี่ยวกับการทำแท้ง สรุปได้ว่า
“การที่จะท้องได้จะต้องมีการแต่งงานก่อน ถ้ามีการตั้งครรภก่อนแต่งงานจะผิดผีจะเอ็ง จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยตาย ดังนั้นต้องมีการแต่งงานกันก่อนซึ่งความเชื่อนี้ช่วยลดปัญหาของการทำแท้งได้”
(ศรีนวล โยธี. 2554 : กันยายน 11)
“มีความรู้สึกว่ามันเป็นการกระทำที่อันตรายต่อชีวิตเรามากอาจถึงแก่ชีวิตเราได้เป็นการกระทำที่ไม่น่าจะแนะนำให้ลูกหลานได้ทำเราเป็นผู้ใหญ่แล้วจึงควรที่จะแนะนำให้ลูกหลานรู้จักโทษของมันซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติตามสื่อ ”
(สุปราณี แผ่นทอง. 2554 : มิถุนายน 22)
บทสรุป
ปัญหาการทำแท้งเป็นปัญหาที่บั่นทอนสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งจากการสังเกตและสัมภาษณ์ของผู้วิจัย พบว่าผู้หญิงหลังแท้งมีภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เช่น ติดเชื้อ ในกระแสโลหิต ไตวาย ตกเลือดและมดลูกทะลุ รวมทั้งพบว่า อัตราการตายของผู้หญิงจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัย ในปี 2553 สูงถึง 300 ต่อ 100,000 ราย ของผู้หญิงที่ทำแท้ง ซึ่งสูงกว่าการตายของมารดาจากการคลอดเป็นหลายเท่า
ปัญหาการแท้งที่ไม่ปลอดภัย ส่วนใหญ่เกิดจากความยากจน ขาดความรู้ ขาดความช่วยเหลือจากสังคมและคนรอบข้าง (ประเสริฐ ยงคง. 2554 : กันยายน 18) การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ของคู่รักที่อยู่ในวัยเรียน การท้องไม่มีพ่อ หรือความไม่พร้อมทางด้านครอบครัว เป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้ ถ้ารู้จักใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างเหมาะสม และถ้าหากเกิดความผิดพลาดในการคุมกำเนิด หรือไม่ได้คุมกำเนิด การทำแท้งก็ไม่ใช่วิธีการยุติปัญหา การตั้งครรภ์ที่ไม่ได้มีการวางแผนหรือไม่พึงประสงค์ เป็นปัญหาสาธารณสุขและสังคมที่สำคัญและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุเพราะ ขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การใช้วิธีคุมกำเนิดที่ไม่ถูกต้องและการเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด หากผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่ได้รับคำปรึกษาและความช่วยเหลือที่ถูกต้อง ก็จะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองอย่างไม่ถูกต้องและไม่ปลอดภัย เป็นผลให้เกิดปัญหาสุขภาพกาย จิตใจ ครอบครัว และสังคมตามมา ท้ายที่สุดความพยายามที่จะสิ้นสุดการตั้งครรภ์ด้วยวิธีต่าง ๆ จึงเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่งของสังคมไทยเราจึงต้องเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนและประชาชนทั่วไปในสังคมไทย และควรช่วยกันตระหนักถึงปัญหารวมทั้งช่วยกันหาวิธีการลดปัญหาการทำแท้ง การหาทางป้องกันและแก้ไขในเรื่องของการทำแท้งเพื่อให้ประชาชนและเยาวชนในสังคมไทยมีสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดีต่อไปในอนาคตและลดปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่จะเกิดตามมาด้วย
เอกสารอ้างอิง
กนกวรรณ ธราวรรณ. (2543). บันทึกประสบการณ์ของผู้หญิงที่ตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม. (รายงานการวิจัย). เอกสาร
ประกอบการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ทางเลือกของผู้หญิงที่ตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม จัดโดยกองวางแผน
ครอบครัวและประชากร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันกฎหมายอาญา
สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์คุ้มครองผู้ติดเชื้อเอดส์ และสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี.
สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ . (2554). สถิติประชากรจังหวัดสุรินทร์. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์.
รายชื่อผู้ให้ข้อมูล
1. นายปิติ โรล อายุ 35 ปี ชาวบ้านกังปงจาม ประเทศกัมพูชา
2. นายประเสริฐ ยงคง อายุ 61 ปี ผู้ใหญ่บ้านนาเกา อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
3. นางสุปราณี แผ่นทอง อายุ 44 ปี ชาวบ้านนาเกา อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
4. นางมา ทาล อายุ 32 ปี ชาวเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
5. นายศรีนวล โยธี อายุ 65 ปี ชาวบ้านปราสาทเยอ จังหวัดศรีสะเกษ