ยุคพลังงาน และอาหารราคาแพง
หากพิจารณาจากเงินเฟ้อก็จะคำนวณได้ว่า ราคา 30 ดอลลาร์เมื่อ 30 ปีที่แล้วนั้น เท่ากับ 94 ดอลลาร์ในวันนี้ โดยคำนวณจากดัชนีผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐ แต่หากคำนวณโดยใช้ดัชนีผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐก็จะเท่ากับ 118 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แปลว่าผู้ผลิตและผู้บริโภคอเมริกันสามารถรับมือกับราคาน้ำมันได้ที่ระดับ 94-118 ดอลลาร์ หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ยากที่เราจะเห็นราคาน้ำมันลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากพิจารณารายได้ของผู้บริโภคโดยคำนวณจากจีดีพีของประเทศในกลุ่ม G-7 ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 30 ปีก่อน ก็จะคำนวณออกมาได้ว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ประเทศในกลุ่ม G-7 สามารถรับได้กับราคาน้ำมันที่ 134 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในกรณีของสหรัฐนั้นค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเคยมีสัดส่วนสูงถึง 8% ของรายได้ครัวเรือน แต่ปัจจุบันยังเป็นสัดส่วนเพียง 6.6%
ดังนั้น หากสัดส่วนดังกล่าวจะปรับขึ้นไปที่ 8% ต่อรายได้เช่นเมื่อปี 1980 ราคาน้ำมันก็จะต้องสูงถึง 145 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากคำนวณแบบเดียวกันจากจีดีพีโลกก็จะได้ราคาน้ำมันที่ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สรุปคือราคาน้ำมันอาจจะสามารถยืน ที่ระดับ 100-150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอย่างต่อเนื่องก็เป็นได้ หากอุปทานหรือปริมาณการผลิตไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ เพราะประเทศกำลังพัฒนานั้นมีความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจกำลังขยายตัว และปรับโครงสร้างสู่การเป็นอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงไม่ชอบที่ได้ฟังผู้จัดรายการวิทยุยังแสดงความเห็นว่าประเทศไทยไม่ควรอิงราคาน้ำมันในสิงคโปร์ แต่ควรตั้งราคาน้ำมันของตัวเองโดยการเอาต้นทุนการผลิตเป็นเกณฑ์เพื่อประชาชนจะได้ใช้พลังงาน (เช่น ก๊าซธรรมชาติ) ในราคาที่ถูกและบริษัทผลิตน้ำมันก็ไม่ต้องให้มีกำไรมาก การคิดเช่นนี้เป็นการเห็นแก่ตัวของผู้ใช้พลังงาน เพราะราคาสิงคโปร์ ก็คือราคาโลกที่สะท้อนความขาดแคลนของพลังงานในโลก
หากประเทศไทยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ตั้งราคาพลังงานในประเทศที่ระดับต่ำกว่าจริง คนไทยก็จะไม่ประหยัดพลังงาน ตรงกันข้ามจะเร่งใช้พลังงาน โดยสินค้าใดก็ตามที่ใช้พลังงานมากนักธุรกิจไทยก็จะเร่งผลิตเพื่อส่งออก (เนื่องจากราคาพลังงานที่ต่ำจะทำให้นักธุรกิจนึกว่าไทยได้เปรียบในด้านนี้) หรือจะมีการลักลอบส่งออก (เช่น ที่คนไทยลอบไปเติมน้ำมันในประเทศมาเลเซีย) ผลก็คือคนไทยจะแย่งกันใช้พลังงานหมดอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น เมื่อบริษัทพลังงานถูกจำกัดไม่ให้ได้กำไรมาก ก็จะทำให้ไม่มีความสามารถในการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ หรือลงทุนเพื่อขยายกำลังผลิต ดังนั้นผมขอให้พิจารณาให้ดีทุกครั้งที่ต้องการฝืนกลไกตลาด ซึ่งเป็นกลไกที่สะท้อนความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ เมื่อสินค้าแพงแต่พยายามบิดเบือนให้กลายเป็นสินค้าราคาถูก สิ่งที่จะต้องตามมา คือความขาดแคลนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในทางกลับกันเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่จะให้รัฐบาลออกกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ห้ามขายที่นาไปทำกิจกรรมอื่นๆ (เช่นทำสนามกอล์ฟ) เพราะกลัวว่าประเทศไทยจะไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอในยุคที่พูดกันหนาหูว่า เป็นวิกฤติด้านอาหารของโลก ผมคิดว่าไม่จำเป็นเลยที่จะต้องออกกฎบังคับการใช้ที่ดินดังกล่าว เพราะหากราคาข้าวปรับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ กลไกตลาดก็จะทำงานเอง เพราะหากผลิตสินค้าอุตสาหกรรม หรือทำสนามกอล์ฟแล้ว ผลตอบแทนไม่ได้ดีเท่ากับการปลูกข้าว ก็เชื่อได้ว่านักธุรกิจจะปิดโรงงาน และเปลี่ยนมาทำนาข้าวอย่างแน่นอน สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำมากกว่าคือ การวิเคราะห์ว่าการผลิตข้าวของไทยนั้น มีจุดอ่อนใดบ้างที่มองเห็นจากตัวเลขเบื้องต้น คือสัดส่วนของที่ดินด้านการเกษตรที่มีชลประทานนั้นมีเพียง 25% ของพื้นที่การเกษตรของไทยทั้งหมด (ตัวเลขของ FAO หรือองค์การเพื่ออาหารและการเกษตรของสหประชาชาติในปี 2002) ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง อาทิเช่น เวียดนาม (34%) และจีน (36%) นอกจากนั้น ผลผลิตต่อไร่ของไทยก็อยู่ที่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อาทิเช่น ตัวเลข FAO ประเมินว่า ในปี 2003 ไทยผลิตข้าวได้ 2,455 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 Hectare เมื่อเทียบกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นเฉลี่ยได้ผลผลิต 3,945 กิโลกรัมต่อ 1 Hectare เป็นต้น แสดงว่าสิ่งที่จะต้องเน้นในเชิงนโยบาย คือการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ต้องเร่งรัดด้านการพัฒนาชลประทาน การสรรหาปุ๋ย และการใช้เทคโนโลยีต่างๆ
\
ประเทศไทยโชคดีที่คนไทยเกือบครึ่งของประเทศที่เป็นคนยากจน จะได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ดังนั้น เราจึงอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบเทียบประเทศอื่นๆ อย่างมากในส่วนของความกินดีอยู่ดีของประชาชน ในระดับที่จะไม่เกิดความวุ่นวายทางสังคม ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมจึงต้องเผชิญกับปัญหาที่ท้าทาย 3 เรื่องคือ ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ค่าแรงที่จะต้องเพิ่มขึ้น (เพราะเงินเฟ้อและราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น) และกำลังซื้อในต่างประเทศที่จะชะลอตัวลง ซึ่งรัฐบาลก็ต้องเข้าใจและกำหนดนโยบาย เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมลงทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการพึ่งพาพลังงานครับ
ที่มา : ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น