ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการใช้สมุนไพร
โดย ปพิชญา ไชยเหี้ยม
บทคัดย่อ
บทความนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะเสนอถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของการใช้สมุนไพรในวิถีชีวิตของคนในชุมชน เนื่องจากปัจจุบันโลกประสบปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร เนื่องจากการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ที่ผ่านมามักถูกกำหนดด้วยวิธีการเหมือน ๆ กัน โดยละเลยความสำคัญของความหลากหลายทางภูมิปัญญา รวมไปถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นด้วย ทำให้การพัฒนาดังกล่าวไม่ยั่งยืน สาเหตุของปัญหาดังกล่าวมาจากแนวความคิด ความรู้ ที่เรียกรวมขั้นต้นว่า ภูมิปัญญาสมัยใหม่ การพัฒนาประเทศด้านภูมิปัญญาสมัยใหม่นี้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมด้านสุขภาพอนามัยและการรักษาพยาบาล กล่าวคือ มนุษย์ทุกกลุ่มทุกสังคมมีการพัฒนาและสั่งสมความรู้ด้านการรักษาพยาบาลมานานก่อนที่จะเกิดการพัฒนาการแพทย์ตะวันตกแผนใหม่ แต่เนื่องจากระบบการรักษาพยาบาลแบบดั้งเดิมของมนุษย์ไม่แยกกันเด็ดขาดระหว่างกายกับใจ การรักษาพยาบาลโดยใช้สมุนไพรแบบดั้งเดิมนั้นจึงมักจะใช้ควบคู่ไปกับพิธีกรรมและเวทย์มนต์คาถา จึงทำให้แพทย์แผนใหม่มองว่าการแพทย์พื้นบ้านเป็นเรื่องงมงาย มนุษย์จึงละเลยความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นไป
บทนำ
โลกกำลังประสบกับปัญหาในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ประเทศไทยก็มีปรากฏการณ์ดังกล่าวให้เห็นอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากว่ารูปแบบการพัฒนาที่ผ่านมามักถูกกำหนดด้วยวิธีการเหมือน ๆ กัน โดยละเลยความสำคัญของความหลากหลายทางภูมิปัญญา รวมไปถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นด้วย นอกจากนั้นยังต้องมีการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ ทำให้การพัฒนาดังกล่าวไม่ยั่งยืน สาเหตุของปัญหาดังกล่าวมาจากแนวความคิด ความรู้ที่เรียกรวมขั้นต้นว่า ภูมิปัญญาสมัยใหม่ การพัฒนาประเทศด้านภูมิปัญญาสมัยใหม่นี้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมด้านสุขภาพอนามัยและการรักษาพยาบาล กล่าวคือ มนุษย์ทุกกลุ่มทุกสังคมมีการพัฒนาและสั่งสมความรู้ด้านการรักษาพยาบาลมานานก่อนที่จะเกิดการพัฒนาการแพทย์ตะวันตกแผนใหม่ แต่เนื่องจากระบบการรักษาพยาบาลแบบดั้งเดิมของมนุษย์ไม่แยกกันเด็ดขาดระหว่างกายกับใจ การรักษาพยาบาลโดยใช้สมุนไพรแบบดั้งเดิมนั้นจึงมักจะใช้ควบคู่ไปกับพิธีกรรมและเวทย์มนต์คาถา จึงทำให้แพทย์แผนใหม่มองว่าการแพทย์พื้นบ้านเป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระ ความรู้ด้านสมุนไพรจึงพลอยถูกกล่าวหาว่าไม่น่าเชื่อถือภูมิปัญญาในด้านนี้ จนกระทั่งอุตสาหกรรมยาในประเทศตะวันตกเริ่มให้ความสนใจสนับสนุนให้ทุนวิจัยค้นคว้าตัวยาจากสมุนไพรเพื่อผลิตเป็นยา และเคมีภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาขาย จึงทำให้ผู้คนสนใจในเรื่องการศึกษาวิจัยสมุนไพรอย่างแพร่หลาย
บทบาทของสมุนไพรในปัจจุบัน
จากการที่สมุนไพรได้รับความนิยมและสนใจมากขึ้นจึงส่งผลให้การแพทย์แผนไทยมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยที่การบริการทางสุขภาพแผนไทยนั้นเป็นระบบการดูแลสุขภาพของท้องถิ่นที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านสอดคล้องกับความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาตั้งแต่โบราณ ดังนั้นในการรักษาในระบบแพทย์แผนไทยนี้จึงมีการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีการถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษในเรื่องการใช้สมุนไพรต่าง ๆ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้รักษาโรคที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชนมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้สมุนไพรมีบทบาทที่สำคัญในการรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ในเบื้องต้น เป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาได้อาศัยสมุนไพรและยาแผนโบราณจากสมุนไพร สำหรับการรักษาในเบื้องต้นด้วยเช่นกัน ประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นนั้นจะมีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคโดยใช้สมุนไพรอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้มีการปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องนานนับพันปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินเดียมีการผลิตยาจากสมุนไพรเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 23,000 ล้านบาท เนื่องจากประเทศอินเดียอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีสภาวะสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายและมีการใช้สมุนไพรมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนั้นได้มีการส่งออกวัตถุดิบพืชสมุนไพรไปยังประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อใช้ในการผลิตยา อุตสาหกรรมเครื่องหอม เครื่องสำอาง และน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น มีภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญงอกงามของพืชนานาชนิด เช่นกัน โดยเฉพาะพืชสมุนไพรมีอยู่มากมายเป็นแสน ๆ ชนิด ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและจากการเพาะปลูก บางชนิดก็ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาแผนปัจจุบัน สมุนไพรหลายชนิดถูกนำมาใช้ในรูปของยากลางบ้าน ยาแผนโบราณ รากฐานของวิชาสมุนไพรไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดียเป็นส่วนใหญ่ เพราะตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติไทยได้อพยพถิ่นฐานมาจากบริเวณเทือกเขาอัลไตน์ ประเทศจีน มาจนถึงประเทศไทยในปัจจุบัน จึงมีส่วนได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ตลอดจนการบำบัดรักษาโรคจากประเทศอินเดียเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผู้ประมาณว่าในแต่ละปีมีผู้ใช้สมุนไพรในประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากป่าไม้ถูกทำลาย ทำให้ต้องมีการรณรงค์ให้มีการปลูกเป็นสวนสมุนไพรขึ้น (กฤษณา ไกรสินธุ์. 2550 : 10)
ภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้สมุนไพร
การใช้สมุนไพรของหมอพื้นบ้านถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ล้ำค่าของสังคมไทยที่เกิดจากปรัชญาของหมอพื้นบ้านที่สามารถจำแนกแยกแยะฤทธิ์และสรรพคุณของสมุนไพรจากธรรมชาติเพื่อใช้ในการเยียวยารักษาความเจ็บป่วย การรักษาโดยระบบการแพทย์พื้นบ้านจึงเป็นระบบการรักษาโรคแบบประสบการณ์ของชุมชน ที่ได้รับการสั่งสมถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ มีความหลากหลายแตกต่างกันไปแต่ละสังคมวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ ได้มีการพัฒนาการใช้สมุนไพรในระบบการแพทย์พื้นบ้านมาอย่างต่อเนื่อง โดยถือว่าสมุนไพรเป็นรูปแบบการรักษาหลักของระบบการแพทย์พื้นบ้าน และสมุนไพรยังคงมีบทบาทในการดูแลสุขภาพของประชาชนมาโดยตลอด คนไทยโบราณจึงผูกพันกับหมอพื้นบ้านและยาสมุนไพรในการดูแลรักษาสุขภาพของชุมชน (ยุคล ละม้ายจีน. 2550 : บทคัดย่อ)
สมุนไพรนอกจากใช้เป็นยารักษา บรรเทาอาการของผู้ป่วย แล้วยังเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ที่ยังไม่ป่วย ทำให้เกิดสมดุลของการทำงานของร่างกาย เสริมภูมิต้านทานและป้องกันโรค บางชนิดได้ด้วย ในภาวะที่มีความต้องการการใช้สมุนไพรเพิ่มขึ้น กลับพบว่าประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรอย่างเป็นระบบ ข้อมูลของสมุนไพรจำนวนมากถูกปล่อยปละละเลย ขาดการสืบทอด และรวบรวม ส่วนใหญ่ได้สูญหายไปตามอายุขัยของหมอพื้นบ้าน การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ สมุนไพรมีจำนวนลดลง ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการหาสมุนไพรมาใช้รักษาโรคของหมอพื้นบ้าน สมุนไพรจะมีความหลากหลายไปตามสภาพนิเวศวิทยาของแต่ละท้องถิ่น การนำพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค และการใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ จึงมีความหลากหลายแตกต่างกันไปด้วย ความหลากหลายของพืชสมุนไพรและความหลากหลายของภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้สมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับมนุษย์ที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเป็นเวลายาวนาน แสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอย่างยั่งยืน แต่ในปัจจุบัน ป่าซึ่งเป็นแหล่งของสมุนไพรตามธรรมชาติ ได้ลดอย่างรวดเร็ว ทำให้พืชสมุนไพรลดลง และบางชนิดอาจสูญพันธุ์ไป ขณะเดียวกันการจากไปของบรรพบุรุษพร้อมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการใช้สมุนไพรเนื่องมาจากถูกทอดทิ้ง และไม่เห็นความสำคัญจากคนรุ่นหลัง (คีรีบูน จงวุฒิเวศย์และคณะ .2549 : บทคัดย่อ)
พืชสมุนไพร เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ ที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้เป็นประโยชน์ เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่โบราณกาลแล้ว เช่น ในเอเชียก็มีหลักฐานแสดงว่ามนุษย์รู้จักใช้พืชสมุนไพรมากว่า 6,000 ปี แต่หลังจากที่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีการสังเคราะห์ และผลิตยาจากสารเคมี ในรูปที่ใช้ประโยชน์ได้ง่าย สะดวกสบายในการใช้มากกว่าสมุนไพร ทำให้ความนิยมใช้ยาสมุนไพรลดลงมาเป็นอันมาก เป็นเหตุให้ความรู้วิทยาการด้านสมุนไพรขาดการพัฒนา ไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ในปัจจุบันทั่วโลกได้ยอมรับแล้วว่าผลที่ได้จากการสกัดสมุนไพร ให้คุณประโยชน์ดีกว่ายา ที่ได้จากการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับในประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อันอุดมสมบูรณ์ มีพืชต่าง ๆ ที่ใช้เป็นสมุนไพรได้อย่างมากมายนับหมื่นชนิด ยังขาดก็แต่เพียงการค้นคว้าวิจัยในทางที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นเท่านั้น โดยในหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณด้านการสาธารณสุขในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียไปกับการรักษาโรคด้วยวิธีการทางการแพทย์สมัยใหม่ จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขในปีงบประมาณ 2551 ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุขมีมูลค่าถึง 142,192 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการรักษาแบบการแพทย์แผนตะวันตกและตะวันออกจึงต้องสิ้นเปลืองงบประมาณไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำเข้ามา (จักรพงศ์ แท่งทอง. 2550 : บทคัดย่อ)
จากการสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมากทำให้ประชาชนหันมาสนใจการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคอันเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่เพิ่มมากขึ้นจึงส่งผลให้มีผู้สนใจในเรื่องของสมุนไพรเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากการศึกษาวิจัยในหลาย ๆ เรื่อง เช่น งานวิจัยของ โอภาส ชามะรัมย์ (2545) ศึกษาภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านกับการใช้สมุนไพรบำบัดรักษาความเจ็บป่วย กรณีศึกษา นายแวว วงศ์คำโสม บ้านโคนผง ตำบลสานตม อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ผลการศึกษาพบว่าวิธีบำบัดรักษาความเจ็บป่วยของหมอพื้นบ้านจะใช้สมุนไพรและเวทย์มนตร์คาถา ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่มารับการรักษาส่วนมากเคยได้รับการรักษาจากหมอแผนปัจจุบันมาก่อน เมื่อไม่หายจึงมารักษากับหมอพื้นบ้าน ในขั้นตอนการเตรียมการหมอพื้นบ้านจะเตรียมสมุนไพรและวัตถุสิ่งของบูชาด้วยตนเอง มีการวินิจฉัยโรคโดยการคลำชีพจร หลอดลม นิ้วมือ และมีการสอบถามอาการ ขั้นตอนการบำบัดรักษาจะใช้สมุนไพรจากพืชโดยวิธีการต้ม ฝน ละลายน้ำเพื่อให้ดื่ม และใช้ประคบบริเวณที่เจ็บปวด และขั้นตอนการประเมินการรักษาจะพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยที่มารับการบำบัดรักษา และสอบถามจากผู้ป่วยโดยตรง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ ปัทมานันท์ หินวิเศษ (2549) ศึกษาหมอพื้นบ้านกับการรักษาผู้ป่วยด้วยสมุนไพร กรณีศึกษาตำบลขามป้อม อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ผลการศึกษาพบว่า หมอพื้นบ้านมีการแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ หมอสมุนไพร หมอเป่า หมอกระดูก และหมอจับเส้น สำหรับกระบวนการรักษาผู้ป่วยเป็นไปในแนวเดียวกัน คือ มีขั้นสอบประวัติ ขั้นตรวจร่างกาย ขั้นรักษา หมอสมุนไพรจะจัดยาเป็นชุดให้ผู้ป่วยต้มดื่ม หมอเป่าจะทำความสะอาดหัวฝี ท่องคาถากำกับ ฝนเห็ดบนหินลับมีดนำไปพอกที่หัวฝี หมอกระดูกต้องบูชาครูก่อนรักษาด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ เป็นต้น
ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้สมุนไพรของคนในสมัยก่อนนั้นจะมีการใช้สมุนไพรโดยกินเป็นอาหารก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งมีคำพูดประโยคหนึ่งที่มักจะได้ยินคนในสมัยก่อนพูดเสมอว่า “กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินกล้วยน้ำหว้า บำรุงร่างกาย” ซึ่งจากประโยคนี้แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกินที่บ่งบอกว่ากินเพื่อให้เป็นสมุนไพรช่วยในการรักษาโรคมนร่างกาย ซึ่งอาหารหลายอย่างในชุมชนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นอาหารจำพวกน้ำพริก และก็มีผักเป็นองค์ประกอบหลักของอาหารด้วย นอกจากนี้การใช้สมุนไพรมาอบผ้าให้มีกลิ่นหอมก็เป็นการใช้สมุนไพรในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างยิ่ง โดยชาวบ้านมีการนำสมุนไพร 5 ชนิด คือ เล็บครุฑ ไพล ผลตะครอง แฝกหอม เปราะหอม นำสมุนไพรทั้ง 5 ชนิดนี้มาตำให้ละเอียดยกเว้นใบเล็บครุฑที่ไม่ต้องตำ จากนั้นก็เอาไปห่อด้วยไปตองแล้วย่างจนสุกและเอาไปตากแดดไว้ให้แห้งจากนั้นจึงนำผ้าที่เราต้องการจะอบกลิ่นมาห่อสมุนไพรที่ตากแห้งแล้วจากนั้นนำไปนึ่งสักครู่แล้วก็นำผ้าที่ผ่านการนึ่งแล้วมาย้อมดำเพื่อไม่ให้เห็นรอยเปื้อนจากสมุนไพร และเอาไปซักและตากให้แห้ง ก็จะได้ผ้าที่หอมมีกลิ่นติดนาน ผ้าจะหอมนานไม่จางหายจนกว่าผ้านั้นจะขาดไปเลยทีเดียว และอีกอย่างการอบผ้าด้วยสมุนไพรนี้ก็ยังช่วยป้องกันในเรื่องของสัตว์หรือแมลงที่จะมาทำลายผ้าของเราได้อีกด้วย แต่ประโยชน์ที่แฝงลึกลงไปนั้นผู้เขียนบทความคิดว่าการใช้ไพลเป็นส่วนผสมหนึ่งในการอบผ้านั้นอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยในเรื่องของระบบหายใจซึ่งไพลเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ช่วยในเรื่องของหอบหืดได้อีกด้วย นอกจากการใช้สมุนไพรในการอบผ้าแล้วก็ยังมีสมุนไพรในการอบตัวหรือผิว ซึ่งก็มีการนำสมุนไพรมาใช้อีกเช่นกัน โดยการนำมะกรูด ไพล รางจืด มาเป็นส่วนผสมในการใช้เป็นสมุนไพรในการอบผิวโดยการนำไปต้มและปล่อยไอจากการต้มสมุนไพรเข้ามาในห้องอบตัวทำให้ผู้เข้าไปอบได้รู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ล้วนเกิดจากภูมิปัญญาที่คนในท้องถิ่นได้รับสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างมาก (เปี่ยม เสียงเพราะ . สัมภาษณ์ : 2554)
นอกจากนี้แล้วชาวบ้านในชนบทส่วนใหญ่จะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการคิดค้นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อีก เช่น การทำปูนกินหมากจากเปลือกหอย ซึ่งเป็นการนำเศษเปลือกหอยที่ไม่มีประโยชน์แต่กลับนำมาประยุกต์ใช้โดยใช้ภูมิปัญญาให้กลับมาเป็นของที่มีประโยชน์ได้ นอกจากจะเป็นการช่วยลดขยะแล้วยังเป็นการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกด้วย
บทสรุป
จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของพืชสมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้สมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ มานาน แต่การตัดไม้ทำลายป่า และการจากไปของบรรพบุรุษ ผู้มีภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้พืชสมุนไพรและวิธีการใช้พืชสมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ มีน้อยลง ทุกที และอาจหายไปในช่วงเวลาไม่นาน และเนื่องจากป่าถูกบุกรุกทำลาย ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษา วิจัย ถึงความเป็นมาเป็นไปในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร และวิธีใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเป็นการอนุรักษ์และนำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป และจากกระแสการหันกลับมาสู่ธรรมชาติ การหันมาใช้วิถีธรรมชาติบำบัดในการดูแลสุขภาพ การใช้สมุนไพรบำบัดรักษาแทนการรักษาโรคด้วยวิธีทางการแพทย์แผนใหม่ เพื่อยับยั้งการสูญเสียเงินของตนเอง ของจังหวัด จนไปถึงระดับประเทศชาติ จนกระทั่งเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องมีการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของการใช้สมุนไพร เพื่อทราบวิธีในการใช้ประโยชน์สมุนไพรของแต่ละชุมชน และร่วมกันหาแนวทางร่วมกันสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชสมุนไพร โดยอาศัยภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่น ให้มีการดำรงอยู่และมีการใช้พืชสมุนไพรอย่างยั่งยืนภายในชุมชน อันจะเป็นการพัฒนาศักยภาพขององค์กร ชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งตนเองได้ต่อไป
เอกสารอ้างอิง
กฤษณา ไกรสินธุ์. (2550). ของฝากจากอินเดีย. กรุงเทพมหานคร. สถาบันวิจัยและพัฒนา.
คีรีบูน จงวุฒิเวศย์และคณะ (2549). พฤติกรรมการดูแลสุขภาพและสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร :
สำนักงานกองทุนการวิจัย ชุดโครงการวิจัยด้านการศึกษากับชุมชน.
จักรพงศ์ แท่งทอง. (2550). พืชสมุนไพรในวิทยาเขตบ้านยางน้อย. อุบลราชธานี : มหาวิทยาลัย
ราชภัฏอุบลราชธานี.
เปี่ยม เสียงเพราะ. สัมภาษณ์เมื่อ 18 ธันวาคม 2554
ยุคล ละม้ายจีน. (2550). ความหลากหลายของพืชสมุนไพรและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตาม
ภูมิปัญญาท้องถิ่นในจังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น