วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

"คนต้องสำราญ งานต้องสัมฤทธิ์" : หลักธรรมสำหรับนักบริหาร

                 การสร้างทางสายกลางระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตนี้ เราต้องฝึกให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะหากไม่ฝึกไม่พัฒนา เมื่อทำงานไปหลายคนอาจเสพติดการทำงานหนัก จนพานคิดไปว่า ผลของการทำงานก็คือเรื่องเดียวกันกับคุณภาพชีวิตโดยหารู้ไม่ว่า บางทีผลสัมฤทธิ์ของงานที่เพิ่มขึ้น ๆ นั้น ต้องจ่ายด้วยคุณภาพชีวิตราคาแสนแพง เช่น ยิ่งมีความรับผิดชอบสูง มองในแง่การทำงานแสดงว่ามีตำแหน่งสูงขึ้น ก้าวหน้าขึ้น แต่มองในแง่สุขภาพอาจยิ่งทรุดต่ำลง เพราะต้องแบกความเครียดมากขึ้น  เมื่อความเครียดมากขึ้น บุคลิกภาพก็เปลี่ยนไปไม่อยากพูด ไม่อยากสังสรรค์กับใคร อารมณ์เสียกับเรื่องต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เวลาสำหรับตัวเองและครอบครัวก็น้อยลงพอมีวันหยุด ก็ไม่อยากไปไหน อยากนอนให้สาแก่ใจเพียงอย่างเดียว เวลากิน เวลาอยู่กับครอบครัวก็ไม่วายคิดถึงแต่เรื่องงาน แม้จะกลับบ้านแต่หัวค่ำ แต่เมื่อกินข้าวเสร็จ ก่อนนอนก็ไม่วายลุกขึ้นมานั่งพิจารณาเอกสารหรืออ่านอีเมล์งาน บางทีทำอยู่อย่างนี้จนตี 2 ตี 3 จึงเข้านอน ครั้นถึงตีห้าหกโมง ก็ต้องรีบตื่นขับรถไปทำงานอาหารเช้าก็ไม่ได้กินนอกจากกาแฟแก้วเดียว เมื่อไปถึงที่ทำงาน แฟ้มงานก็สุมกองอยู่บนโต๊ะแล้ว สายๆ หน่อยมีแขกเข้ามาพบ พอเที่ยง ก็นั่งกินข้าวบนโต๊ะทำงานกินไปตาก็กวาดดูเอกสารงานไปพลาง มือข้างหนึ่งจับช้อน มืออีกข้างพลิกดูเอกสาร หูยังเสียบบลูทูธฟังไปคุยไปบ่ายๆ ถึงเย็นติดประชุมกับคณะกรรมการบอร์ดอีกสองสามนัด สี่โมงโทรฯ ตามคนรถให้ไปรับลูก ลูกเป็นตัวแทนห้องแสดงละคร ทำกิจกรรม แม่หรือพ่อก็แทบไม่ว่างไปให้กำลังใจ
                      พอหกโมงเย็นก็ขับรถออกจากสำนักงานรถติดไปอยู่บนทางด่วนร่วมสองชั่วโมง ตลอดเวลานี้ก็หงุดหงิดอารมณ์เสีย ต่อโทรศัพท์หาคนนั้นคนนี้ไปทั่ว คุยไปพลาง บ่นไปพลาง ในหัวมีแต่ความขุ่นมัวของอารมณ์ทุ่มหรือบางวันสองทุ่มจึงฝ่ารถติดกลับถึงบ้าน เมื่อถึงบ้าน ลูกๆ ทำการบ้านอยู่กับพี่เลี้ยงแล้วก็แยกไปนอนพ่อกับแม่ทำได้อย่างดีแค่หอมลูกหนึ่งฟอดแล้วก็พูดออกไปเหมือนหุ่นยนต์ว่า "พ่อ/แม่รักลูก หลับฝันดีนะคะ"  จากนั้นรีบอาบน้ำอย่างลวกๆ แล้วออกมานั่งกินอาหารมื้อสุดท้ายของวัน ตาจ้องดูโทรทัศน์อย่างแกนๆ ไม่ได้ตั้งใจดูอะไรเป็นพิเศษ เพราะไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรอย่างต่อเนื่อง ละครก็ไม่สนใจบ้านเมืองก็น่าเบื่อเกมโชว์ก็มีแต่ตลกและดาราหน้าซ้ำๆ โผล่มาให้ฮาแบบฝืดๆ ด้วยมุกเดิมๆ กี่ปี ก็เป็นอย่างนี้ กินข้าวเสร็จ เข้าห้องนอนเห็นสามีหลับเป็นตายเพราะเหนื่อยหนักไม่น้อยไปกว่ากันแต่ตัวเองยังตาสว่าง อย่ากระนั้นเลย หยิบไอแพดคู่ใจมาเปิดอีเมล์ เช็คดูงานที่ยังคั่งค้าง จากนั้นองค์คนทำงานจนเสพติดลงประทับนั่งทำงานเพลินต่อไปจนถึงตีหนึ่งหรือตีสองจนตาล้าเต็มที จึงข่มตานอน เอ๊ะ เหนื่อยขนาดนี้ทำไมยังนอนไม่หลับ (ร่างกายผิดปกติขนาดนี้ก็ยังไม่รู้สึก) ลุกขึ้นมาหยิบยานอนหลับใส่ปากสองเม็ดแล้วก็ล้มตัวลงนอนในสภาพอิดโรยเพื่อที่จะรีบตื่นมาอีกทีตอนเช้าในสภาพนอนไม่เต็มอิ่ม แต่ไม่มีทางเลือก ถึงอย่างไรก็ต้องตื่นไปทำงาน  ชีวิตที่ใช้ไปอย่างสมบุกสมบันเช่นนี้ มีราคาที่ต้องจ่ายแพงเหลือเกิน ในขณะที่คุณได้ตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นมีอำนาจมากขึ้น  ความรับผิดชอบมากขึ้น แต่คุณภาพชีวิตของคุณกลับหายไป คุณไม่ต่างอะไรกับหุ่นยนต์ที่ทำอะไรซ้ำๆ เหมือนถูกวางโปรแกรมเอาไว้แล้ว
                        ไม่นานหลังจากการใช้ชีวิตอย่างชนิดบอกทางสายกลาง ร่างกายและจิตใจก็ประท้วงคุณด้วยการแสดงให้เห็นว่าใจหนักอึ้งไปด้วยความเครียด อารมณ์มีแต่ความขุ่นมัว ร่างกายถ้าไม่ผ่ายผอมเพราะไม่ได้ดูแล ก็อ้วนเผละเพราะกินไม่เลือกเพื่อดับความเครียด มนุษยสัมพันธ์กับคนอื่นก็ลดน้อยถอยลงไป ความมีชีวิตชีวาก็ติดลบ รอยยิ้มเสียงหัวเราะนาน ๆ ครั้งคนรอบข้างจึงจะได้เห็น ขณะที่ร่างกายก็อุทธรณ์ด้วยการเหนื่อยง่าย กินอาหารไม่อร่อย วันหนึ่งเหนื่อยล้าเต็มที่แวะไปให้หมอตรวจสุขภาพ หมอวินิจฉัยว่า เสียใจด้วยคุณป่วยเป็นโรคร้าย คงมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่กี่ปี
                          นี่คือ ชีวิตของมนุษย์ในสังคมนิยมบริโภคนี่คือ ชีวิตของมนุษย์ในเมืองที่ต้องแข่งขันกันทำมาหากินและมุ่งไปสู่กำไรสูงสุด   นี่ไม่ใช่ชีวิตสำเร็จรูปของคนเมืองทั้งหมด แต่นี่คือ ภาพจำลองของคนส่วนใหญ่ในเมืองทุกวันนี้ ที่ต่างคนต่างทำงาน จนหลงลืมกลับมาดูแล "กาย - ใจ" ให้คืนสู่ความสมดุล เป็นความสมดุลที่กายและใจควรได้รับแต่เรากลับมองข้ามมันไป เพื่อที่จะกลับมาตระหนักรู้อีกครั้งหนึ่งว่าความสมดุลหรือทางสายกลางสำคัญแค่ไหนก็ต่อเมื่อเราได้สูญเสียความสมดุลนั้นไปแล้ว
           ชีวิตที่ดี ไม่ใช่ชีวิตที่มีเงินมาก หรือมีอำนาจล้นฟ้ามีชื่อเสียงฟุ้งกระจายเสมอไป
          แต่ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่มีความสมดุลของกายและใจของงานและของชีวิตอย่างลงตัว
                      คุณมีทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นยศ ทรัพย์ อำนาจ ชื่อเสียง กามารมณ์ แต่หากคุณไม่มีความสุขเพราะกายป่วยและใจเครียด สิ่งที่คุณมียังจะมีความหมายอีกไหม หลักสมดุลงาน สมดุลชีวิต จึงเป็นหลักที่คนทำงานทุกคนควรนำมาเป็นแนวทางในการทำงานและการใช้ชีวิตอยู่เสมอ ในทางปฏิบัติ หากเราอยากสร้างชีวิตคนชีวิตงานให้ก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน ก็ควรเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า "คนต้องสำราญ งานต้องสัมฤทธิ์"  ไม่ใช่  "งานสัมฤทธิ์ แต่ชีวิตไม่สำราญ" หรือเขียนเตือนตนไว้ในห้องทำงาน เพื่อเป็นการเตือนตนไม่ให้เสพติดการทำงานจนเสียคุณภาพชีวิตว่า "การทำงานประสานกับคุณภาพชีวิต คือผลสัมฤทธิ์ของทางสายกลาง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น