ปรับความคิดพิชิตจิตตก
ถึงเวลาที่คนไทยจะพิสูจน์ตัวเองว่า "เจ๋ง" จริง ด้วยวิธีคิดกำราบความฟุ้งซ่านของ "จิต" พร้อมยิ้มกว้างสู้กันใหม่ในปีนี้ ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่เวียนมาอีกครา สำหรับคนที่ต้องเจอปัญหามาตลอดปี ไม่ว่าจะตกงาน บ้านน้ำท่วม อ่านหนังสือสอบไม่ทัน ปีใหม่นี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการปรับความคิดให้ยอมรับกับปัญหา แล้วอุปสรรคที่เข้ามาจะกลายเป็นเรื่องจิ๊บๆ ที่เรายิ้มรับได้ตลอดไป
นพ.โกวิทย์ นพพร จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะของการสูญเสีย ทั้งทรัพย์สิน บ้านเรือน ยานพาหนะ รวมถึงตกงาน เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ จนทำให้หลายคนอยู่ในภาวะจิตตก หรือเครียดตามมา ความเครียดที่เกิดจากวิกฤติและปัญหาต่างๆ ร่างกายและจิตใจจะเกิดปฏิกิริยาความวิตก หรืออาการเครียดมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของจิตใจแต่ละคนว่าเติบโตในครอบครัวแบบไหน เจ้าตัวยอมรับความเป็นจริงได้หรือเปล่า รวมถึงความสูญเสียตามความเป็นจริงที่ได้รับจากเหตุการณ์โดยตรง ในกลุ่มคนที่มีพื้นฐานความเข้าใจปัญหาและยอมรับได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือมีบ้านเก่าที่กำลังอยู่ในช่วงขยับขยายย้ายบ้านพอดี รวมถึงมีที่พักสำรอง เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ อาจจะไม่รู้สึกสูญเสียหรือเสียใจมากเท่าไหร่ แต่กับกลุ่มคนที่เพิ่งซื้อบ้านหลังแรก หรือเรือนหอ หรือไม่มีที่ไปอื่นนอกจากบ้านตัวเอง น้ำท่วมอาจทำให้เกิดความเครียดจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริงตามมาได้
“อาการจิตตกหรือความวิตก และความเครียด สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถือเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจต่อการสูญเสีย ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ เป็นกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น ห่วงนั่นห่วงนี่ แต่ยังไม่ถือว่าเป็นโรค เพราะเมื่อเกิดอาการในคนทั่วไปจะหายได้เองในเวลาต่อมาหลังเหตุการณ์จบลง” จิตแพทย์ จากโรงพยาบาลมนารมย์ กล่าว ความรู้สึกสูญเสียหรือความเครียดที่เกิดขึ้น แบ่งอาการเป็นได้ดังนี้คือ ระยะเริ่มของการเกิดเหตุการณ์ ซึ่งแรกๆ ผู้สูญเสียอาจจะมีความรู้สึกชาๆ ยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจิตใจเริ่มรับรู้ว่ามีการสูญเสียเกิดขึ้น จะเริ่มรู้สึก โกรธ พร้อมกับโทษสิ่งรอบตัวถึงการเป็นสาเหตุที่มาที่ทำให้เขาหรือเธอได้รับผลเช่นนี้ และเมื่อจิตใจเริ่มยอมรับว่ามีความสูญเสียได้แล้ว จะเริ่มเกิดความสิ้นหวัง ท้อแท้ ซึมเศร้า ตามมา
บุคลิกการแสดงออกหลังจากเกิดความเครียด ขึ้นอยู่กับพื้นฐานอารมณ์และจิตใจของแต่ละคน ว่าปกติเป็นคนอารมณ์แบบไหน หากเป็นคนใจร้อน คาดหวังสูง ปฏิกิริยาก็อาจออกมารุนแรง เช่น หงุดหงิด กังวล ปวดศีรษะ ปวดตามเนื้อตัว กระวนกระวาย โมโหง่าย ส่วนคนที่อารมณ์เย็น ใช้เหตุผล อาจมีอาการน้อยกว่าเนื่องจากจิตใจที่ยอมรับได้กับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความคาดหวังของเจ้าตัวด้วย หากคาดหวังสูงแต่ผลออกมาน้อย เขาก็จะผิดหวังเยอะกว่าเพื่อนก็ได้
คนที่อยู่ในภาวะจิตตกย่อมรู้ตัวเองดีที่สุดว่าตัวเองกำลังจิตตกอยู่เพราะเรื่องอะไร จิตแพทย์ กล่าวและว่า เหตุผลสำคัญในการวิเคราะห์ว่าคนคนนั้นอยู่ในภาวะไหน หรือเสี่ยงจะเป็นโรคเครียดตามมาหรือไม่ ต้องดูด้วยว่า เขาสูญเสียมากน้อยแค่ไหน มีความเดือดร้อนมากกว่าคนรอบตัวเขาหรือเปล่า หรือเป็นคนที่มีนิสัยชอบคิด ชอบวิตกกังวลมากกว่าคนอื่นๆ หรือไม่ รวมถึงมีความเครียดต่อเนื่องมานานแค่ไหน น้ำท่วมปีนี้เป็นบทเรียนที่ดีให้หลายคนรู้และเข้าใจอะไรหลายอย่าง เพราะได้เห็นแล้วว่าน้ำมามากน้อยแค่ไหน ทำเลที่ตั้งของที่อาศัยมีจุดเด่นจุดด้อยอะไร ปีหน้าหากน้ำมามากอีกจะต้องรับมืออย่างไร หรืออาจวางแผนย้ายที่อยู่เพื่อคลายความเครียดที่เกิดจากความกังวลที่ได้รับจากข่าว ที่วิเคราะห์ออกมาว่าปีหน้าน้ำอาจมามากกว่าเดิมคนที่ถูกเลิกจ้างงาน อาจเลือกกลับไปตั้งหลักใหม่ ณ ภูมิลำเนาของตน เพื่อหาสมัครงานใหม่ หรืออาจรอฟังนโยบายความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเรื่องคนตกงาน อย่างไรก็ตาม ทุกคนควรช่วยเหลือตัวเองก่อนที่จะคาดหวังความช่วยเหลือจากคนอื่น เพราะเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าคนอื่นจะมาช่วยเราได้มากน้อยแค่ไหน มาเมื่อไหร่
สำหรับเด็ก ความสูญเสียอาจไม่ส่งผลถึงสภาพจิตใจเขาโดยตรง โดยเฉพาะในเด็กเล็กระดับประถม เพราะยังอยู่ในวัยที่คิดว่าก็แค่ไปโรงเรียนทำการบ้านส่งครู แต่เด็กโตที่อยู่ในจุดที่ต้องสอบแข่งขัน อาจเกิดความกังวลหรือความเครียดว่าจะเรียนเพื่อไปสอบทันคนอื่นเขาไหม “ความเครียดที่เกิดกับเด็กโต สาเหตุมาจากกฎกติกาที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น จัดกิจกรรมเรียนเสริมเพื่อให้สอบได้ทันจนเด็กเกิดความวิตกกลัวจะเรียนไม่ทันเพื่อนและสอบไม่ได้ ไม่มีที่เรียน ผู้ใหญ่ควรปรับความคิดใหม่เลิกสร้างบรรยากาศให้เด็กเครียด ลดหย่อนกติกา เพราะจริงๆ แล้ว ในห้องเรียนมีเด็กสามกลุ่มที่ต้องคำนึงถึงคือ ที่เรียนแล้วเข้าใจในครั้งแรก กลุ่มเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง และเด็กที่หัวช้าต้องย้ำหลายรอบถึงเข้าใจ ซึ่งมีโอกาสเครียดมากกว่าเพื่อนเพราะเขาอาจเรียนไม่ทัน” จิตแพทย์จากมนารมย์เสริมว่า การเรียนจบช้าหรือไว ถ้าเขาเรียนอย่างเข้าใจอย่างไรก็จบ จะช้าเร็วก็ได้งานทำเหมือนๆ กัน และไม่ว่าจะเกิดความเครียดขึ้นสักกี่ครั้ง สุดท้ายเมื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อาการจะหายไปเอง แต่หากความเครียดยังคงวนเวียนอยู่อย่างนั้นนานๆ แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว 5-6 เดือน ควรพบจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณว่า คนคนนั้นอาจมีแนวโน้มหรือความเสี่ยงที่อาจจะป่วยทางจิตหรือโรคเครียดในเวลาต่อมาได้
"โรคเครียดไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจคนคนนั้นว่ามีความรุนแรงแค่ไหน ถึงขั้นทำให้มีอาการเครียดต่อเนื่องไม่รู้จบหรือเปล่า เพราะจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่เมื่อเกิดความเครียดแล้วจะต้องป่วยเป็นโรคเครียดเหมือนกัน อาจมีเพียง 20% ของคนที่มีความเครียดเป็นทุนเดิม หรือมีแนวโน้มว่าจะป่วยเป็นโรคเครียดหรือโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนที่มีความทุกข์หรือความเครียดมาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สูญเสีย ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้มากกว่าคนอื่นและควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้รู้เท่าทันอาการและรักษาได้ทัน" คุณหมอโกวิทย์ แนะนำทิ้งท้าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น