วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

          วิถีชีวิตเพื่อการส่งเสริมสุขภาพดวงตาด้วยกีกระทบ (ตะบายทะมิงเชอ)  ของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรสุรินทร์ *      (  The   Way  of   Life  for  Eyesight  Health  Supporting  by  Tabaithamengcher  of  Khamer Ethnic    Group  in  Surin . )
สุกัญญา   สายแสงจันทร์  * * วาสนา   แก้วหล้า  ***
บทคัดย่อ
                วิถีชีวิตเพื่อการส่งเสริมสุขภาพดวงตาด้วยกีกระทบ( ตะบายทะมิงเชอ) ของชาวเขมรสุรินทร์  เป็นการศึกษาถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อสายตามนุษย์จากการดำรงชีพเป็นหลัก  โดยใช้แนวคิดกระบวนการดูแลสุขภาพของศาสตร์แพทย์ทางตะวันออกเป็นปัจจัยสำคัญ  วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชาวเขมรสุรินทร์ที่ประกอบอาชีพทอผ้าโดยใช้กีกระทบ (ตะบายทะมิงเชอ) กับการดูแลสุขภาพดวงตา      การศึกษาครั้งนี้ ใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขมร ซึ่งอาศัยอยู่ตามเทือกเขาพนมดงรัก  การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม  การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์ และสังเคราะห์เนื้อหาเชิงคุณภาพจากเอกสาร การสัมภาษณ์   การสังเกตในลักษณะการพรรณนา  ตามสาระและเนื้อหาที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
                                 ผลการศึกษาพบว่า   มีความสอดคล้องควบคู่เป็นมาด้วยดี  ระหว่างการทอผ้ากับการมีสายตาที่ดีในการดูแลสุขภาพดวงตา  เมื่อได้องค์ความรู้ที่สำคัญเป็นประโยชน์ก็จะสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางกระตุ้น  ส่งเสริมประชาชน  รวมทั้งองค์กรต่างๆเห็นคุณค่าให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มาจากชาวเขมรสุรินทร์ยิ่งขึ้น  อันจะนำไปสู่การพัฒนาหลายๆด้านที่จะเป็นประโยชน์ให้กับชุมชน  ท้องถิ่น  สังคม  ประเทศชาติและที่สำคัญผู้ที่ประกอบอาชีพทอผ้าโดยใช้กีกระทบ (ตะบายทะมิงเชอ) จังหวัดสุรินทร์  จะเกิดความภาคภูมิใจได้รับการส่งเสริมทั้งอาชีพและสุขภาพดวงตา  อาจเป็นผลให้เกิดการมีส่วนร่วมอนุรักษ์การทอผ้าเป็นมรดกของสุรินทร์ไว้ตราบนานยิ่งขึ้นไป
คำสำคัญ : วิถีชีวิต , การส่งเสริมสุขภาพดวงตา ,  กีกระทบ , กลุ่มชาติพันธุ์เขมรสุรินทร์
*       บทความนี้เป็นการวิจัยภาคสนามแนวชาติพันธุ์วรรณนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ เรื่อง ภูมิรู้การถนอมดวงตาของผู้สูงอายุในกลุ่มชาติพันธุ์เขมร
**     นักศึกษาปริญญาโท  หลักสูตรวิทยาศาสคร์มหาบัณฑิต   สาขาสาธารณสุขศาสตร์  คณวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
***     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์  วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (วท..) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
บทนำ
                               ปัจจุบันแนวคิดในการดูแลสุขภาพ  ได้มีการปรับกระบวนการจากการซ่อมแซมรักษาสุขภาพมาเป็นการป้องกันส่งเสริมสุขภาพ  โดยเริ่มต้นดำเนินการและเห็นการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ พ . . 2548 ที่มีจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยประมาณ  6.4 ล้านคน  และคาดว่าในอนาคตจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง  จนเป็นภาวะประชากรผู้สูงอายุ  ทั้งนี้กระบวนการพัฒนาดังกล่าวได้ถูกกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล  เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้นโดยรวมจนถึงปัจจุบัน   สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข  ได้คาดการณ์ว่าในปี  . . 2563  ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ     12 . 9   ล้านคน  (สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข . 2549 : 15 )
                            สำหรับการมีสุขภาพดี  ในอดีตให้ความสำคัญกับสุขภาพกายเป็นหลัก  เพราะเห็นว่าร่างกายแข็งแรงก็น่าจะเพียงพอ  แต่เมื่อมีการศึกษากันอย่างกว้างขวางจึงมีการปรับปรุงแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง  โดยมีมุมมองสุขภาพเป็นความสมบูรณ์ของคนใน  4  มิติคือ  ร่างกาย  จิตใจ  สังคม  และวิญญาณหรือปัญญา  หากทุกด้านมีความสมบูรณ์อย่างสมดุลย์  ก็จะเรียกว่า   สุขภาวะที่ดี     องค์การอนามัยโลก ( WHO : World  Health  Organization )  ได้ให้ความหมายของสุขภาพไว้ในธรรมนูญขององค์การอนามัยโลก เมื่อ ค . . 1948 ว่า   สุขภาพ  หมายถึงสภาวะแห่งความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ  รวมถึงการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปรกติสุข  และมิได้หมายความเฉพาะเพียงแต่การปราศจากโรคและทุพพลภาพเท่านั้น  ต่อมาในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก เดือนพฤษภาคม  2541  ได้มีมติใหเพิ่มคำว่า   Spiritual  well – being  หรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณเข้าไปในคำจำกัดความของสุขภาพ
                           องค์ประกอบสุขภาพในความหมายดังกล่าว  มีการกำหนดมุมมองเป็น  4  มิติ เพื่อให้ง่ายต่อกระบวนการดำเนินงาน ได้แก่    ด้านการส่งเสริมสุขภาพ  เป็นกลไกการสร้างความเข้มแข็งให้สุขภาพกาย  สุขภาพจิต   สุขภาพสังคม   และสุขภาพด้านศีลธรรม   ด้านการป้องกันโรค  เป็นมาตรการลดความเสี่ยงในการเกิดโรครวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะโรคด้วยวิธีการต่างๆ    ด้านการรักษาโรค  เมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วต้องเร่งวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร  แล้วรีบให้การรักษาด้วยวิธีที่ได้ผลดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด  เท่าที่มนุษย์จะรู้และสามารถให้การบริการรักษาได้  เพื่อลดความเสียหายต่อสุขภาพ หรือป้องกันมิให้เสียชีวิต  ด้านการฟื้นฟูสภาพ  หลายโรคเมื่อเป็นแล้วอาจเกิดความเสียหายต่อระบบร่างกายและอวัยวะ  หรืออาจทำให้พิการได้  จึงต้องมีการฟื้นฟูสภาพให้กลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้   จะเห็นว่ามิติสุขภาพมีการกำหนดองค์ประกอบให้ความสำคัญไว้ทั้งการส่งเสริม  ป้องกัน  รักษาและฟื้นฟูทั้งกระบวนการ  ถ้าหากกลไกด้านการส่งเสริมป้องกันโรคเกิดประสิทธิผลที่ดีกว่า  ย่อมนำมาซึ่งความประหยัดเป็นแนวทางนำบุคคลไปสู่ความสุข  ความสำเร็จมีสุขภาพชีวิตที่ดีได้  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นพุทธภาษิตว่า  อโรคยา  ปรมา  ลาภา    ซึ่งแปลว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ  นอกจากนี้ยังมีสุภาษิตของชาวอาหรับโบราณกล่าวไว้ว่า  คนที่มีสุขภาพดี  คือคนที่มีความหวัง และคนที่มีความหวังคือคนที่มีทุกสิ่งทุกอย่าง
                              การเลือกแนวทางการส่งเสริมสุขภาพปัจจุบันมีหลายวิธี  ทั้งจากแพทย์แผนตะวันตกและแพทย์แผนจีน  หรืออาจจะผสมผสานหลายๆแนวทางเข้าด้วยกัน  ทั้งนี้ต่างมุ่งหวังให้มนุษย์มีสุขภาพที่ดีเหมือนกันทั้งสิ้น  เช่น  รู้จักรับประทานอาหารที่มีประโยขน์ให้ครบทั้ง  5  หมู่สลับกันไปทุกวัน  ออกกำลังกายพอสมควรอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ  3  วันประมาณ  30  นาทีเพื่อชะลอความเสื่อม  คงไว้ซึ่งความแข็งแรงของอวัยวะและระบบต่างๆอยู่ในสถานที่ๆอากาศบริสุทธิ์  มีออกซิเจนเพียงพอเพื่อให้ร่างกายเกิดกระบวนการสร้างเซลขึ้นมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรออย่างมีประสิทธิภาพ  มีการขับถ่ายที่ดีเป็นประจำ  เพื่อให้มีการปรับสารเคมีแร่ธาตุในร่างกายให้เกิดความสมดุล  รวมทั้งการทำจิตใจให้แจ่มใส  ไม่เครียด  สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพที่บุคคลทั่วไปสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้
                              ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยโครงสร้างที่สลัลซับซ้อน  ทั้งทางกายภาพและชีวภาพ  โดยเริ่มจากระดับโมเลกุล  เซลล์  เนื้อเยื่อและอวัยวะ  โครงสร้างทุกระดับรวมกันเรียกว่าอวัยวะ  ในทางการแพทย์ได้มีการจัดระบบอวัยวะของร่างกายมนุษย์ไว้เป็น  10  ระบบได้แก่  ระบบผิวหนัง  ระบบกระดูก  ระบบกล้ามเนื้อ  ระบบย่อยอาหาร  ระบบขับถ่ายปัสสาวะ  ระบบหายใจ  ระบบไหลเวียนโลหิต  ระบบประสาท  ระบบสืบพันธุ์  และระบบต่อมไร้ท่อ  การที่มนุษย์จะมีสุขภาพกายที่ดีได้  จำเป็นต้องให้ทุกระบบของร่างกายทำงานเชื่อมโยงกันอย่างเป็นปกติ  หากระบบใดระบบหนึ่งทำงานผิดปกติย่อมมีผลทำให้ระบบอื่นเป็นตามไปด้วย  ดังนั้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม  จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง 
                                ดวงตาของมนุษย์เรา  เป็นอวัยวะสำคัญซึ่งต้องอาศัยการทำงานจากหลายระบบในการมองเห็น  โดยเฉพาะระบบประสาทที่สมองซึ่งมีเส้นใยประสาทตาจำนวนมาก  มีหน้าที่รับภาพและแปลภาพที่เห็นออกมาให้มีความหมาย  เส้นใยประสาทเหล่านี้มีจุดสัมพันธ์เชื่อมโยงไปยังระบบต่างๆของร่างกาย  รวมทั้งอวัยวะที่สำคัญของมนุษย์ส่วนหนึ่งคือเท้า  ในการเรียนรู้ตามศาสตร์แพทย์ตะวันออก  เท้าของมนุษย์เรามีจุดสัมพันธ์กับอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย  โดยมีจุดสะท้อนที่เท้าซึ่งเรียกว่าปลายประสาท  เมื่อได้รับการกระตุ้นปลายประสาทเหล่านี้จะสะท้อนกลับไปยังอวัยวะต่างๆที่สัมพันธ์กัน  มีผลทำให้ระบบต่างๆภายในร่างกายรวมทั้งอวัยวะทำงานได้อย่างสมดุล  นำมาซึ่งการมีสุขภาพที่ดี  ทั้งการส่งเสริมป้องกันโรค  การรักษาและการผ่อนคลายตามกระบวนการที่เรียกว่า รีเฟลกโซโลยี (  Refleoxogy  )   หรือกระบวนการสะท้อนกลับของร่างกาย (ศักดิ์   บวร . 2551 : 10 - 11 ) สำหรับจุดสะท้อนกลับหรือปลายประสาทที่เท้าของมนุษย์  ซึ่งสัมพันธ์กับความสมดุลของดวงตาอยู่บริเวณฝ่าเท้าส่วนหน้าต่ำกว่าโคนนิ้วชี้เล็กน้อย (สุเชาว์   เพียรเชาว์กุล . 2549 : 84 )   บริเวณดังกล่าวมนุษย์ต้องมีการสัมผัสและถูกกระตุ้นทุกครั้งที่มีการเดิน (gait)  เนื่องจากเป็นจุดที่ต้องใช้ผลักหรือดันพื้น ( push off ) เพื่อยกเท้าก้าวไปข้างหน้า  หากคนเรามีการเดินเท้าบ่อยๆหรือประกอบอาชีพบางประเภทที่จำเป็นต้องใช้เท้าอยู่เสมอ  จุดสะท้อนหรือปลายประสาทที่เท้าถูกกระตุ้นมากยิ่งขึ้นยิ่งทำให้  มีการสะท้อนกลับไปยังอวัยวะที่สัมพันธ์ช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น (สุเชาว์   เพียรเชาว์กุล . 2549 : 16 )  ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เลือดดำไหลกลับสู่หัวใจได้ดีกว่า  เป็นการส่งเสริมสุขภาพทั่วร่างกายเพราะอวัยวะที่สำคัญของร่างกายมนุษย์จำเป็นต้องมีเลือดนำอาหารและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ทั้งสิ้น  รวมทั้งดวงตาของเราด้วย 
                                     วิถีชีวิตของชาวเขมรสุรินทร์  นอกจากมีอาชีพหลักในการทำนาแล้ว  การทอผ้าไหมก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีการถ่ายทอดเป็นความรู้ประกอบอาชีพสืบทอดกันมา  นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะชาวเขมรที่อาศัยอยุ่บริเวณแนวเทือกเขาพนมดงรัก  ที่มีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาในจังหวัดสุรินทร์จากภัยสงครามหรือความอดอยาก  ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ   นิยมสร้างบ้านด้วยไม้    เป็นบ้านทรงสูง  ข้างล่างโล่งและใช้เป็นที่วางอุปกรณืในการทอผ้า  รวมทั้งสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ  เช่น หมอข้าว  โอ่งน้ำ  เครื่องมือทางการเกษตร  เป็นต้น  ในการทำนาจะนิยมทำกันเป็นแบบครอบครัว  อาศัยแรงจากญาติพี่น้องช่วยเหลือกันทั้งชายและหญิง  แต่ถ้าเป็นการทอผ้าส่วนใหญ่แม่บ้านหรือสตรีเป็นฝ่ายเรียนรู้สอนสั่งถ่ายทอดซึ่งกันและกัน   หากมีความรู้มากขึ้นก็มีการถ่ายทอดไปยังเพื่อนบ้านต่อๆกันไป  จนเกิดความนิยมและมีการรวมกลุ่มเพื่อทอผ้าเป็นอาชีพหารายเลี้ยงตนและครอบครัว
                                     การทอผ้าของชาวเขมรสุรินทร์  เป็นหัตถการที่สำคัญของครอบครัวในสมัยโบราณ  เพราะเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ 1 ใน 4 อย่างคือ อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค (ศิริพร  สุเมธารัตน์. 2554  : 185 ) เป็น การใช้แรงงานจากคนเป็นหลัก  อุปกรณ์ในการทอผ้าส่วนมากเป็นการทำขึ้นเอง  โดยใช้แรงงานจากคนในบ้านหรือเพื่อนบ้านในลักษณะการพึ่งพากัน  เช่น กี่  ตะกอ  คานแขวน  ไม้เหยียบหรือคานเหยียบ  กระสวยไม้นั่งทอผ้า  ผัง ไม้ขิด บ่ากี่ รวมทั้งฟืมหรือหวี   ซึ่งชาวเขมรสุรินทร์เรียกว่าทะมิงเชอ  ที่มีลักษณะคล้ายหวี  มีฟันเป็นซี่ๆ สำหรับสอดไหมหรือจัดเส้นไหม  แล้วใช้กระทบไหมพุ่งที่สานตัดกันกับไหมยืนให้เป็นผืนผ้า ( จากการสัมภาษณ์ : ยายประเด็น  ประไวย์  2554 พฤศจิกายน 25 )  ชาวเขมรพื้นเมืองสุรินทร์ที่มีการทอผ้าไหมมายาวนาน  มีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี     ในการทอผ้าแต่ละผืนต้องใช้ทั้งเวลา  ความอดทน  อวัยวะต่างๆต้องทำงานอย่างสัมพันธ์กันโดยเฉพาะสายตา  มือและเท้า ลักษณะเด่นของผ้าไหมสุรินทร์นอกจากมีสีสัน  ลวดลายงดงามแล้ว  เส้นไหมที่นำมาทอนิยมใช้ไหมเส้นน้อย เพราะเป็นไหมที่มีเนื้อละอียด  หากผู้ทอมีสายตาในการมองเห็นไม่ดี  ย่อมเป็นการยากที่จะได้ผ้าไหมที่งดงาม  คงความเป็นเอกลักษณ์ดำรงอยู่จนถึงวันนี้ได้
                                  อุปกรณ์การทอผ้าที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง  ที่เรียกว่า ไม้เหยียบหรือคานเหยียบ  อาจทำจากไม้ที่พอหาได้  หรือไม้ไผ่  เพื่อผูกเชื่อมโยงกับตะกอ  ผู้ทอผ้าต้องใช้ฝ่าเท้าสัมผัสออกแรงกดที่ไม้เหยียบเพื่อให้เส้นไหมยืนขึ้น ลงสลับกัน  จะได้มีช่องสอดกระสวยเข้าไปในร่อง  ก่อนที่จะใช้มือจับทะมิงเชอหรือฟืมกระทบให้เส้นไหมทั้งหมดอัดแน่นเป็นผืนผ้า   บริเวณฝ่าเท้าที่ผู้ทอผ้าใช้สัมผัสกับไม้เหยียบหรือคานเหยียบ  แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนไม่มีกฏเกณฑ์แน่นอน    บางคนสัมผัสทั่วทั้งฝ่าเท้าถ้าฝ่าเท้ามีขนาดเล็ก  ส่วนคนที่ฝ่าเท้ามีขนาดใหญ่อาจใช้ส้นเท้า  กลางฝ่าเท้าและปลายเท้าสลับกันไปมา   สอดคล้องกับคำกล่าวของ  ยายที  สาขาจันทร์ “ เวลาทอผ้าแล้วแต่คนถนัดบางคนใช้กลางฝ่าเท้าและอุ้งเท้าเหยียบไม้ บางคนใช้อุ้งเท้ากับปลายนิ้วกดไม้เหยียบ สลับกันไป ( สัมภาษณ์ ยายที  สาขาจันทร์ : 2554 กันยายน  29 )
                               จากการใช้ฝ่าเท้าเหยียบที่คานเหยียบตลอดเวลาของการทอผ้า  ตำแหน่งบริเวณฝ่าเท้าส่วนหน้าซึ่งอยู่ต่ำกว่าโคนนิ้วชี้เล็กน้อยทั้งซ้ายและขวา  เป็นจุดสะท้อนกลับหรือปลายประสาทที่สัมพันธ์กับความสมดุลของดวงตา  หากมีการสัมผัสกระตุ้นๆบ่อยๆก็ยิ่งช่วยให้ปลายประสาทที่เท้าสะท้อนกลับไปที่ดวงตารวมทั้งบริเวณของดวงตาที่เกิดกระแสประสาท ( Nerve impulse ) เกี่ยวกับการมองเห็น ( Vision ) คือจอตาหรือเรตินา ( Retina) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ประกอบด้วยเซลล์ประสาทและเซลล์ซึ่งไวแสงเรียงตัวกันเป็นชั้น 2 ชนิด คือ เซลล์รูปแท่ง (Ron  cell) ซึ่งไม่สามารถแยกความแตกต่างของสีและเซลล์รูปกรวย (Cone cell) ที่สามารถยกความแตกต่างของสีได้ รวมกันประมาณ 132  เซลล์ เมื่อแสงผ่านไปถึงเรตินา จะกระตุ้นให้เกิดกระแสประสาท ส่งผ่านใยประสาทที่ประสาทสมองคู่ที่ 2 (Optic  nerve) ซึ่งเป็นประสาทที่เกี่ยวกับการมองเห็น  และส่งผลไปจนถึงศูนย์กลางการมองเห็น (Visual centre)  ซึ่งอยู่บริเวณสมองส่วนหน้าที่ใหญ่ที่สุด (Cerebrum)  แล้วสมองก็จะแปล impulse  สร้างเป็นภาพให้รู้สึกมองเห็นได้  การที่ตาจะเห็นสิ่งต่างๆได้ชัดเจน  อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของแก้วตา (Lene)  ซึ่งมีลักษณะใสๆเหมือนแก้วมีเอ็นยึดอยู่ไว้กับกล้ามเนื้อรอบของขอบแก้วตา  กล้ามเนื้อนี้ทำหน้าที่ควบคุมปรับแก้วตาเพื่อให้แสงผ่านมารวมเป็นจุดบนเรตินาพอดี  ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนทุกระยะ  ถ้าแสงสว่างไม่รวมกันเป็นจุดเดียวบน Retina   แสดงว่าสายตาผิดปรกติ  เช่น  สายตาสั้น  สายตายาว  สายตาพร่าต่างแนว เป็นต้น  ทุกครั้งที่บริเวณฝ่าเท้ามนุษย์ถูกกระตุ้น   มีผลทำให้ร่างกายมีระบบการไหลเวียนที่ดีขึ้น  เซลล์อวัยวะต่างๆรวมทั้งดวงตาย่อมได้รับการบำรุงหล่อเลี้ยงที่ดี    ซึ่งช่วยลดความเสื่อมของดวงตา  ช่วยยืดอายุการใช้งานของการมองเห็นได้นานขึ้นตามกระบวนการที่เรียกว่า    Refleoxogy    หรือกระบวนสะท้อนกลับของร่างกาย ( ศีขริน  เรียบเรียง . 2550 : 105-113)   ทั้งนี้สายตาของคนเราถือกำเนิดมาจากสมองเป็นส่วนใหญ่  จึงมีลักษณะเป็นเซลล์สมองด้วย  ดังนั้นถ้าขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงเซลล์มักจะตายไปอย่างถาวร  ยากที่จะแก้ไขกลับมาคืนได้   แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่าชาวเขมรสุรินทร์ที่ทอผ้าไหมหรือตะบายทะมิงเชอ  เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทอผ้ามานานตั้งแต่แรกรุ่นจนถึงวัยสูงอายุ  ก็ยังสามารถทอผ้าเป็นอาชีพหลักมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวมาโดยตลอด  ทั้งนี้ต้องมีความสมบูรณ์ของร่างกายโดยเฉพาะสายตาเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย
บทสรุป
                                    กล่าวโดยสรุป  วิถีชีวิตของชาวเขมรสุรินทร์  เป็นการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายยึดอาชีพที่ครอบครัวมีความถนัด  และถ่ายทอดต่อกันมาเป็นช่วงๆ  โดยมิได้มุ่งหวังหรือเรียนรู้ว่าเป็นการดูแลสุขภาพ  แต่เป็นการดำเนินชีวิตเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมต่างๆที่เป็นอยู่ขณะนั้นมากกว่า  การทอผ้าไหมหรือที่ชาวเขมรสุรินทร์เรียกว่าตะบายทะมิงเชอ  เป็นอาชีพหลักสำคัญที่ทำต่อกันเนื่องกันมาเหมือนกับการทำนา  จากงานวิจัยนี้ได้พยายามนำแนวคิดกายสานศาสตร์การดูแลสุขภาพวิถีตะวันออกมาอธิบายองค์ความรู้ที่เป็นภูมิรู้จากภูมิปัญญาเทคโนโลยีการทอผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรสุรินทร์   ซึ่งปูพรมอยู่ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก  ความรู้ที่ได้จะนำไปสู่การจัดการองค์ความรู้ที่มีผลดีต่อสุขภาพ  ปัจจัยสำคัญที่อาชีพนี้คงอยู่ได้ก็ด้วยเห็นว่าแม้จะมีอายุมากขึ้นเข้าสู่สูงวัยก็ยังสามารถทำได้ดี  ช่วยสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน  ซึงเมื่ออายุมากขึ้นการที่จะสามารถประกอบอาชีพต่างๆมีข้อจำกัดในด้านร่างกาย  มีเพียงสายตาที่ยังสามารถใช้งานได้ดีกว่า  และเมื่อประกอบอาชีพทอผ้ามาอย่างต่อเนื่องผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ  Refleoxogy  หรือกระบวนการสะท้อนกลับของร่างกายย่อม เป็นส่วนสำคัญช่วยเสริมให้ระบบการไหลเวียนร่างกายได้อย่างปกติ  เกิดความสมดุลย์โดยเฉพาะการมองเห็นที่สามารถทำให้ผู้ทอผ้าแม้จะเป็นผู้สูงอายุก็ยังประกอบอาชีพสำคัญที่บรรพบุรุษได้ให้ไว้อย่างภาคภูมิใจ

เอกสารอ้างอิง
ศักดิ์   บวร. ( 2551 ). นวดมือนวดเท้ารักษาโรค. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: บริษัท  โอเอ็นจี .
 ศีขริน  เรียบเรียง . ( 2550 ) . นวดบำบัด สัมผัสแห่งความสุข .  เพ็ญวัฒนา พิมพ์ .
ศิริพร   สุเมธารัตน์. ( 2554 ) . ประวัติศาสคร์ท้องถิ่นเมืองสุรินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร :
                 โอเดียนสโตร์.
สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ  กรมการแพทย์  กระทรวงสารรสุข. ( 2549 ). คู่มือสุขภาพประจำตัวผู้สูงอายุ.
                  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
สุเชาว์   เพียรเชาว์กุล. ( 2549 ). ศาสตร์แห่งเท้า  คู่มือหมอประจำครอบครัว. พิมพ์ครั้งที่ 4.
                  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.
รายชื่อผู้ให้ข้อมูล (Interviewees)
1.                ชื่อนางที   สาขาจันทร์  อายุ 78  ปี , ผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ทอผ้าโฮล , สัมภาษณ์ (29  กันยายน 2554 )
2.               นางประเด็น   ประไวย์   อายุ  63   ปี , ผู้สูงอายุที่ยังประกอบอาชีพทอผ้าโฮลอยู่ , สัมภาษณ์  (  25  พฤศจิกายน  2554 )


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น