มิติทางสังคม วัฒนธรรม ในการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุชาวกูย ในท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์
โดย สมัย สุขหมั่น
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุชาวกูยในท้องถิ่น จังหวัดสุรินทร์บนพื้นฐานสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นชาวกูยโดย เลือกผู้ให้ข้อมูลหลักที่เป็นผู้สูงอายุชาวกูย ในเขตตำบลสะกาด อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ตามหลักการเลือกตัวอย่าง เชิงทฤษฎี เก็บข้อมูลโดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และการบันทึกภาคสนาม และเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุให้มีสุขภาพจิตที่ดีบนฐานสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งการวิจัยในครั้งนี้ จะใช้วิธีการวิจัยโดยการศึกษาบริบทชุมชนท้องถิ่น และประมวลผล เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำข้อมูลที่ได้ ไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อเป็นมิติทางสังคมและวัฒนธรรมในการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุชาวกูย ซึ่งจากการศึกษา สัมภาษณ์ และสังเกตการณ์ พบว่าแนวทางการส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุชาวกูยส่วนใหญ่จะเป็นการส่งเสริมทางด้านวัฒนธรรมและประเพณี เพราะการเข้าร่วมกิจกรรมตามประเพณี หรือวัฒนธรรมของผู้สูงอายุทำให้เกิดความคลายเครียด ส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น
คำสำคัญ มิติทางสังคม, มิติทางวัฒนธรรม, การส่งเสริมสุขจิต, ผู้สูงอายุ ,ชาวกูย
บทนำ
ทรัพยากรมนุษย์ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต เป็นผู้ถ่ายทอด ภูมิปัญญาให้กับบุตรหลาน เสรี บุญญานุพงศ์. (2534 : 2) ได้กล่าวถึงผู้สูงอายุในเชิงสร้างสรรค์ว่า เป็นบุคคลที่ทรงคุณค่า เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นคลังของประสบการณ์ด้าน ต่าง ๆ เป็นผู้นำทางจิตใจที่ทำให้ครอบครัวรวมกันเป็นปึกแผ่น เป็นผู้สร้างสรรค์ประเพณีและประวัติศาสตร์ มีประสบการณ์มากกว่าคนในวัยอื่น ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่สามารถเชื่อมโยงวิทยาการ ความรู้ วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีทางสังคมของคนในอดีตสู่ยุคปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน
องค์การสหประชาชาติได้มีมาตรการและแนวทางในการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกายที่ดี ชะลอความชรา หรือฟื้นฟูสุขภาพร่างกาย อันจะเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรผู้สูงอายุในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลก เมื่อผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อการพัฒนาประเทศที่มีการปรับตัวช้าลง ทำให้เกิดความต้องการคนในวัยแรงงานมากขึ้น จึงทำให้คนวัยแรงงานที่อยู่ตามชนบทเข้าไปทำงานในเมืองปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านตามลำพัง หรืออยู่กับหลาน ซึ่งไม่มีคนมาดูแลเอาใจใส่ ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสภาวะจิตใจอันส่งผลไปยังสุขภาพร่างกายที่มีความเสื่อมถอยเนื่องจากการป่วย จึงทำให้ผู้สูงอายุหันมาเพิ่งศาสนา หรือกิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม หรือประเพณีต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและคลายความเครียด (กระทรวงสาธารณสุข. 2540 : 8)
สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจประชากรเมื่อปี 2553 พบว่าจังหวัดสุรินทร์มี ของข้อมูลประชากรกลางปีทั้งหมด 142,925 คนจากข้อมูลการรับเบี้ยยังชีพ จากการเพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลกที่เปลี่ยนไปนั้น ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพทั้งในภาครัฐและเอกชน และส่งผลต่อการเกิดปัญหาภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุ ในเขตอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ พบผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ถดถอยลงไปเรื่อยๆสิ่งที่ตามมาคือโรคที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยเหตุนี้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพส่งผลให้การช่วยเหลือตนเองในด้านการปฏิบัติตัวในการดำรงชีพภายใต้สังคมปัจจุบันที่ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ขาดการดูแลจากครอบครัว และสภาพร่างกายที่เสื่อมทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เกิดปัญหาโภชนาการ ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ อันเป็นสาเหตุนำไปสู่ความเจ็บป่วยเช่นภาวะ ทุพโภชนาการ โภชนาการเกิน ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ด้านการออกกำลังกายเป็นพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพที่ผู้สูงอายุพึงกระทำซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อร่างกายและระบบต่างๆจะทำงานได้ดีขึ้น หากผู้สูงอายุที่ไม่ออกกำลังกายเลยมีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนทั่วไป จากสถิติข้อมูลประชากรของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2553 พบว่า มีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต จำนวน 359,847 คน ส่วนในจังหวัดสุรินทร์มีประชากรทั้งหมด 1,379,794 คน พบว่า มีปัญหาด้านสุขภาพจิต จำนวน 24,570 คน คิดเป็น ร้อยละ 1.78 ซึ่งได้แก่ ปัญหาเรื่องความวิตกกังวล จำนวน 16,846 คน โรคซึมเศร้า 5,964 คน ปัญญาอ่อน 1,201 คน ลมชัก 8,561 คน ติดยาเสพติด 1,696 คน ฆ่าตัวตาย 68 คน และ ออทิสติก 2 คน (สำนักสถิติจังหวัดสุรินทร์. 2553 : 3)
การใช้มิติทางสังคม วัฒนธรรม ในการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุชาวกูย จำเป็นจะต้องดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่พึงประสงค์ต่อการจัดระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุในเขตพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ และจะต้องดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุด้วย โดยแนวทางในการส่งเสริมสุภาพจิตผู้สูงอายุชาวกูยในจังหวัดสุรินทร์ มีดังนี้
“ลูกหลานไม่อยู่บ้าน ไม่มีนดูแลทำให้เกิดความน้อยใจ เครียด และคิดมาก เลยต้องพึ่งวัดเพื่อทำให้จิตใจสงบขึ้น”
(ไทย โยธี. 2554 : กันยายน 11)
“ยายไม่สบาย เป็นโรคเบาหวาน ไม่มีใครดูแล เพราะอยู่สองคนต้องเลี้ยงดูหลาน ทำให้ไม่มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต แต่พอยายไปทำบุญหรือร่วมกิจกรรมตามประเพณีก็ทำให้ยายสบายใจขึ้น และยายสวดมนต์ก่อนนอนทำให้คลายเครียด ”
(ผาย โยธี. 2554 : กันยายน 11)
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามที่เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ในเรื่องมิติสังคม วัฒนธรรมในการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุ จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านและผู้สูงอายุที่เสียมเรียบ ได้ข้อมูลดังนี้
“ถ้าเราได้ทำบุญ ไหว้พระ จะทำให้ได้ดั่งที่เราปรารถนาไว้ ซึ่งการไหว้พระเป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงจิตใจให้ดีขึ้น ลดความตึงเรียดในจิตใจ”
(เพียย เบาะ. 2554 : ธันวาคม 2554)
“คนในทะเสสาปเขมร (ตวลเลซาบ) เชื่อว่าการลอยประทีปเป็นการขอขมาแม่น้ำที่เขาได้ล่วงเกิน ทำให้อยู่เย็นเป็นสุข”
(ปิติ โรล. 2554 : ธันวาคม 24)
สรุป
การศึกษามิติทางสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นมีผลต่อการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุของชาวกูย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาบริบททางวัฒนธรรมของชุมชนและครอบครัว เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง การศึกษา การประกอบอาชีพ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ การละเล่นและล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น ซึ่งจากการสัมภาษณ์ทั้งในประเทศและนอกประเทศปรากฏว่าทุกคนให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งจรรโลงจิตใจผู้คน ผู้ที่มีความตึงเครียดจาปัญหาที่บ้าน หรือจากการดำเนินชีวิตระจำวันส่วนใหญ่แล้วก็จะมีการหันหน้าเข้าวัด ฟังธรรม นอกจากนี้การหาเพื่อนคุยเพื่อปรับทุกข์ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม หรือประเพณีต่าง ๆ ของหมู่บ้านก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยคลายคามเครียดของผู้สูงอายุได้
บรรณานุกรม
กระทรวงสาธารณสุข. (2540) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กรุงเทพมหานคร.
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2553). สถิติผู้สูงอายุ. กรุงเทพมหานคร.
รายชื่อผู้ให้ข้อมูล
1. นายไทย โยธี อายุ 78 ปี ชาวบ้านปราสาทเยอ จังหวัดศรีสะเกษ
2. นางผาย โยธี. อายุ 67 ปี ชาวบ้านปราสาทเยอ จังหวัดศรีสะเกษ
3. นางเพียย เบาะ อายุ 70 ปี ชาวบ้านปราสาทตาพรม เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
4. นายปิติ โรล อายุ 35 ปี ชาวบ้านกัมปงจาม ประเทศกัมพูชา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น