วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

"คนต้องสำราญ งานต้องสัมฤทธิ์" : หลักธรรมสำหรับนักบริหาร

                 การสร้างทางสายกลางระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตนี้ เราต้องฝึกให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะหากไม่ฝึกไม่พัฒนา เมื่อทำงานไปหลายคนอาจเสพติดการทำงานหนัก จนพานคิดไปว่า ผลของการทำงานก็คือเรื่องเดียวกันกับคุณภาพชีวิตโดยหารู้ไม่ว่า บางทีผลสัมฤทธิ์ของงานที่เพิ่มขึ้น ๆ นั้น ต้องจ่ายด้วยคุณภาพชีวิตราคาแสนแพง เช่น ยิ่งมีความรับผิดชอบสูง มองในแง่การทำงานแสดงว่ามีตำแหน่งสูงขึ้น ก้าวหน้าขึ้น แต่มองในแง่สุขภาพอาจยิ่งทรุดต่ำลง เพราะต้องแบกความเครียดมากขึ้น  เมื่อความเครียดมากขึ้น บุคลิกภาพก็เปลี่ยนไปไม่อยากพูด ไม่อยากสังสรรค์กับใคร อารมณ์เสียกับเรื่องต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เวลาสำหรับตัวเองและครอบครัวก็น้อยลงพอมีวันหยุด ก็ไม่อยากไปไหน อยากนอนให้สาแก่ใจเพียงอย่างเดียว เวลากิน เวลาอยู่กับครอบครัวก็ไม่วายคิดถึงแต่เรื่องงาน แม้จะกลับบ้านแต่หัวค่ำ แต่เมื่อกินข้าวเสร็จ ก่อนนอนก็ไม่วายลุกขึ้นมานั่งพิจารณาเอกสารหรืออ่านอีเมล์งาน บางทีทำอยู่อย่างนี้จนตี 2 ตี 3 จึงเข้านอน ครั้นถึงตีห้าหกโมง ก็ต้องรีบตื่นขับรถไปทำงานอาหารเช้าก็ไม่ได้กินนอกจากกาแฟแก้วเดียว เมื่อไปถึงที่ทำงาน แฟ้มงานก็สุมกองอยู่บนโต๊ะแล้ว สายๆ หน่อยมีแขกเข้ามาพบ พอเที่ยง ก็นั่งกินข้าวบนโต๊ะทำงานกินไปตาก็กวาดดูเอกสารงานไปพลาง มือข้างหนึ่งจับช้อน มืออีกข้างพลิกดูเอกสาร หูยังเสียบบลูทูธฟังไปคุยไปบ่ายๆ ถึงเย็นติดประชุมกับคณะกรรมการบอร์ดอีกสองสามนัด สี่โมงโทรฯ ตามคนรถให้ไปรับลูก ลูกเป็นตัวแทนห้องแสดงละคร ทำกิจกรรม แม่หรือพ่อก็แทบไม่ว่างไปให้กำลังใจ
                      พอหกโมงเย็นก็ขับรถออกจากสำนักงานรถติดไปอยู่บนทางด่วนร่วมสองชั่วโมง ตลอดเวลานี้ก็หงุดหงิดอารมณ์เสีย ต่อโทรศัพท์หาคนนั้นคนนี้ไปทั่ว คุยไปพลาง บ่นไปพลาง ในหัวมีแต่ความขุ่นมัวของอารมณ์ทุ่มหรือบางวันสองทุ่มจึงฝ่ารถติดกลับถึงบ้าน เมื่อถึงบ้าน ลูกๆ ทำการบ้านอยู่กับพี่เลี้ยงแล้วก็แยกไปนอนพ่อกับแม่ทำได้อย่างดีแค่หอมลูกหนึ่งฟอดแล้วก็พูดออกไปเหมือนหุ่นยนต์ว่า "พ่อ/แม่รักลูก หลับฝันดีนะคะ"  จากนั้นรีบอาบน้ำอย่างลวกๆ แล้วออกมานั่งกินอาหารมื้อสุดท้ายของวัน ตาจ้องดูโทรทัศน์อย่างแกนๆ ไม่ได้ตั้งใจดูอะไรเป็นพิเศษ เพราะไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรอย่างต่อเนื่อง ละครก็ไม่สนใจบ้านเมืองก็น่าเบื่อเกมโชว์ก็มีแต่ตลกและดาราหน้าซ้ำๆ โผล่มาให้ฮาแบบฝืดๆ ด้วยมุกเดิมๆ กี่ปี ก็เป็นอย่างนี้ กินข้าวเสร็จ เข้าห้องนอนเห็นสามีหลับเป็นตายเพราะเหนื่อยหนักไม่น้อยไปกว่ากันแต่ตัวเองยังตาสว่าง อย่ากระนั้นเลย หยิบไอแพดคู่ใจมาเปิดอีเมล์ เช็คดูงานที่ยังคั่งค้าง จากนั้นองค์คนทำงานจนเสพติดลงประทับนั่งทำงานเพลินต่อไปจนถึงตีหนึ่งหรือตีสองจนตาล้าเต็มที จึงข่มตานอน เอ๊ะ เหนื่อยขนาดนี้ทำไมยังนอนไม่หลับ (ร่างกายผิดปกติขนาดนี้ก็ยังไม่รู้สึก) ลุกขึ้นมาหยิบยานอนหลับใส่ปากสองเม็ดแล้วก็ล้มตัวลงนอนในสภาพอิดโรยเพื่อที่จะรีบตื่นมาอีกทีตอนเช้าในสภาพนอนไม่เต็มอิ่ม แต่ไม่มีทางเลือก ถึงอย่างไรก็ต้องตื่นไปทำงาน  ชีวิตที่ใช้ไปอย่างสมบุกสมบันเช่นนี้ มีราคาที่ต้องจ่ายแพงเหลือเกิน ในขณะที่คุณได้ตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นมีอำนาจมากขึ้น  ความรับผิดชอบมากขึ้น แต่คุณภาพชีวิตของคุณกลับหายไป คุณไม่ต่างอะไรกับหุ่นยนต์ที่ทำอะไรซ้ำๆ เหมือนถูกวางโปรแกรมเอาไว้แล้ว
                        ไม่นานหลังจากการใช้ชีวิตอย่างชนิดบอกทางสายกลาง ร่างกายและจิตใจก็ประท้วงคุณด้วยการแสดงให้เห็นว่าใจหนักอึ้งไปด้วยความเครียด อารมณ์มีแต่ความขุ่นมัว ร่างกายถ้าไม่ผ่ายผอมเพราะไม่ได้ดูแล ก็อ้วนเผละเพราะกินไม่เลือกเพื่อดับความเครียด มนุษยสัมพันธ์กับคนอื่นก็ลดน้อยถอยลงไป ความมีชีวิตชีวาก็ติดลบ รอยยิ้มเสียงหัวเราะนาน ๆ ครั้งคนรอบข้างจึงจะได้เห็น ขณะที่ร่างกายก็อุทธรณ์ด้วยการเหนื่อยง่าย กินอาหารไม่อร่อย วันหนึ่งเหนื่อยล้าเต็มที่แวะไปให้หมอตรวจสุขภาพ หมอวินิจฉัยว่า เสียใจด้วยคุณป่วยเป็นโรคร้าย คงมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่กี่ปี
                          นี่คือ ชีวิตของมนุษย์ในสังคมนิยมบริโภคนี่คือ ชีวิตของมนุษย์ในเมืองที่ต้องแข่งขันกันทำมาหากินและมุ่งไปสู่กำไรสูงสุด   นี่ไม่ใช่ชีวิตสำเร็จรูปของคนเมืองทั้งหมด แต่นี่คือ ภาพจำลองของคนส่วนใหญ่ในเมืองทุกวันนี้ ที่ต่างคนต่างทำงาน จนหลงลืมกลับมาดูแล "กาย - ใจ" ให้คืนสู่ความสมดุล เป็นความสมดุลที่กายและใจควรได้รับแต่เรากลับมองข้ามมันไป เพื่อที่จะกลับมาตระหนักรู้อีกครั้งหนึ่งว่าความสมดุลหรือทางสายกลางสำคัญแค่ไหนก็ต่อเมื่อเราได้สูญเสียความสมดุลนั้นไปแล้ว
           ชีวิตที่ดี ไม่ใช่ชีวิตที่มีเงินมาก หรือมีอำนาจล้นฟ้ามีชื่อเสียงฟุ้งกระจายเสมอไป
          แต่ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่มีความสมดุลของกายและใจของงานและของชีวิตอย่างลงตัว
                      คุณมีทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นยศ ทรัพย์ อำนาจ ชื่อเสียง กามารมณ์ แต่หากคุณไม่มีความสุขเพราะกายป่วยและใจเครียด สิ่งที่คุณมียังจะมีความหมายอีกไหม หลักสมดุลงาน สมดุลชีวิต จึงเป็นหลักที่คนทำงานทุกคนควรนำมาเป็นแนวทางในการทำงานและการใช้ชีวิตอยู่เสมอ ในทางปฏิบัติ หากเราอยากสร้างชีวิตคนชีวิตงานให้ก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน ก็ควรเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า "คนต้องสำราญ งานต้องสัมฤทธิ์"  ไม่ใช่  "งานสัมฤทธิ์ แต่ชีวิตไม่สำราญ" หรือเขียนเตือนตนไว้ในห้องทำงาน เพื่อเป็นการเตือนตนไม่ให้เสพติดการทำงานจนเสียคุณภาพชีวิตว่า "การทำงานประสานกับคุณภาพชีวิต คือผลสัมฤทธิ์ของทางสายกลาง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี)

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มิติทางสังคม วัฒนธรรม ในการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุชาวกูย ในท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์

โดย   สมัย สุขหมั่น

บทคัดย่อ

                   การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุชาวกูยในท้องถิ่น จังหวัดสุรินทร์บนพื้นฐานสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นชาวกูยโดย เลือกผู้ให้ข้อมูลหลักที่เป็นผู้สูงอายุชาวกูย ในเขตตำบลสะกาด อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์  ตามหลักการเลือกตัวอย่าง เชิงทฤษฎี เก็บข้อมูลโดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และการบันทึกภาคสนาม และเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุให้มีสุขภาพจิตที่ดีบนฐานสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งการวิจัยในครั้งนี้ จะใช้วิธีการวิจัยโดยการศึกษาบริบทชุมชนท้องถิ่น และประมวลผล เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำข้อมูลที่ได้ ไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อเป็นมิติทางสังคมและวัฒนธรรมในการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุชาวกูย  ซึ่งจากการศึกษา  สัมภาษณ์  และสังเกตการณ์  พบว่าแนวทางการส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุชาวกูยส่วนใหญ่จะเป็นการส่งเสริมทางด้านวัฒนธรรมและประเพณี  เพราะการเข้าร่วมกิจกรรมตามประเพณี  หรือวัฒนธรรมของผู้สูงอายุทำให้เกิดความคลายเครียด ส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น

คำสำคัญ  มิติทางสังคม, มิติทางวัฒนธรรม, การส่งเสริมสุขจิต,  ผู้สูงอายุ ,ชาวกูย

บทนำ
                   ทรัพยากรมนุษย์ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต เป็นผู้ถ่ายทอด     ภูมิปัญญาให้กับบุตรหลาน เสรี บุญญานุพงศ์. (2534 : 2) ได้กล่าวถึงผู้สูงอายุในเชิงสร้างสรรค์ว่า เป็นบุคคลที่ทรงคุณค่า เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นคลังของประสบการณ์ด้าน ต่าง ๆ เป็นผู้นำทางจิตใจที่ทำให้ครอบครัวรวมกันเป็นปึกแผ่น เป็นผู้สร้างสรรค์ประเพณีและประวัติศาสตร์ มีประสบการณ์มากกว่าคนในวัยอื่น ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่สามารถเชื่อมโยงวิทยาการ ความรู้ วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีทางสังคมของคนในอดีตสู่ยุคปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน 
            องค์การสหประชาชาติได้มีมาตรการและแนวทางในการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกายที่ดี ชะลอความชรา หรือฟื้นฟูสุขภาพร่างกาย อันจะเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรผู้สูงอายุในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลก เมื่อผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อการพัฒนาประเทศที่มีการปรับตัวช้าลง  ทำให้เกิดความต้องการคนในวัยแรงงานมากขึ้น  จึงทำให้คนวัยแรงงานที่อยู่ตามชนบทเข้าไปทำงานในเมืองปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านตามลำพัง  หรืออยู่กับหลาน  ซึ่งไม่มีคนมาดูแลเอาใจใส่  ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสภาวะจิตใจอันส่งผลไปยังสุขภาพร่างกายที่มีความเสื่อมถอยเนื่องจากการป่วย  จึงทำให้ผู้สูงอายุหันมาเพิ่งศาสนา  หรือกิจกรรมทางศาสนา  วัฒนธรรม  หรือประเพณีต่าง ๆ  เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและคลายความเครียด (กระทรวงสาธารณสุข. 2540 : 8)
          สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจประชากรเมื่อปี 2553 พบว่าจังหวัดสุรินทร์มี ของข้อมูลประชากรกลางปีทั้งหมด  142,925 คนจากข้อมูลการรับเบี้ยยังชีพ  จากการเพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลกที่เปลี่ยนไปนั้น  ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพทั้งในภาครัฐและเอกชน และส่งผลต่อการเกิดปัญหาภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุ  ในเขตอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ พบผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ถดถอยลงไปเรื่อยๆสิ่งที่ตามมาคือโรคที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยเหตุนี้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพส่งผลให้การช่วยเหลือตนเองในด้านการปฏิบัติตัวในการดำรงชีพภายใต้สังคมปัจจุบันที่ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ขาดการดูแลจากครอบครัว และสภาพร่างกายที่เสื่อมทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เกิดปัญหาโภชนาการ ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ อันเป็นสาเหตุนำไปสู่ความเจ็บป่วยเช่นภาวะ          ทุพโภชนาการ โภชนาการเกิน ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ด้านการออกกำลังกายเป็นพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพที่ผู้สูงอายุพึงกระทำซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อร่างกายและระบบต่างๆจะทำงานได้ดีขึ้น หากผู้สูงอายุที่ไม่ออกกำลังกายเลยมีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนทั่วไป จากสถิติข้อมูลประชากรของประเทศไทย ปี พ.. 2553 พบว่า มีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต จำนวน 359,847 คน  ส่วนในจังหวัดสุรินทร์มีประชากรทั้งหมด 1,379,794 คน พบว่า มีปัญหาด้านสุขภาพจิต จำนวน 24,570 คน คิดเป็น ร้อยละ 1.78 ซึ่งได้แก่  ปัญหาเรื่องความวิตกกังวล จำนวน 16,846 คน โรคซึมเศร้า 5,964 คน  ปัญญาอ่อน 1,201 คน ลมชัก 8,561 คน  ติดยาเสพติด 1,696 คน  ฆ่าตัวตาย 68 คน  และ ออทิสติก 2 คน   (สำนักสถิติจังหวัดสุรินทร์. 2553 : 3)
                   การใช้มิติทางสังคม  วัฒนธรรม  ในการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุชาวกูย จำเป็นจะต้องดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่พึงประสงค์ต่อการจัดระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุในเขตพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ และจะต้องดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุด้วย  โดยแนวทางในการส่งเสริมสุภาพจิตผู้สูงอายุชาวกูยในจังหวัดสุรินทร์  มีดังนี้
                   “ลูกหลานไม่อยู่บ้าน  ไม่มีนดูแลทำให้เกิดความน้อยใจ  เครียด  และคิดมาก  เลยต้องพึ่งวัดเพื่อทำให้จิตใจสงบขึ้น”
                                                                                                                                          (ไทย  โยธี. 2554 : กันยายน  11)
                  
                   “ยายไม่สบาย  เป็นโรคเบาหวาน  ไม่มีใครดูแล  เพราะอยู่สองคนต้องเลี้ยงดูหลาน  ทำให้ไม่มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต  แต่พอยายไปทำบุญหรือร่วมกิจกรรมตามประเพณีก็ทำให้ยายสบายใจขึ้น  และยายสวดมนต์ก่อนนอนทำให้คลายเครียด ”
                                                                                                                                          (ผาย  โยธี. 2554 : กันยายน 11)

                   จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามที่เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา  ในเรื่องมิติสังคม วัฒนธรรมในการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุ  จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านและผู้สูงอายุที่เสียมเรียบ  ได้ข้อมูลดังนี้

                   “ถ้าเราได้ทำบุญ  ไหว้พระ  จะทำให้ได้ดั่งที่เราปรารถนาไว้  ซึ่งการไหว้พระเป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงจิตใจให้ดีขึ้น  ลดความตึงเรียดในจิตใจ”
                                                                                                                                          (เพียย  เบาะ. 2554 : ธันวาคม  2554)

                “คนในทะเสสาปเขมร  (ตวลเลซาบ) เชื่อว่าการลอยประทีปเป็นการขอขมาแม่น้ำที่เขาได้ล่วงเกิน  ทำให้อยู่เย็นเป็นสุข”               
     (ปิติ  โรล. 2554 : ธันวาคม  24)
สรุป                                                                                                     
                  การศึกษามิติทางสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นมีผลต่อการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุของชาวกูย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาบริบททางวัฒนธรรมของชุมชนและครอบครัว เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง การศึกษา การประกอบอาชีพ  ศาสนา  ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ การละเล่นและล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น  ซึ่งจากการสัมภาษณ์ทั้งในประเทศและนอกประเทศปรากฏว่าทุกคนให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นสิ่งจรรโลงจิตใจผู้คน  ผู้ที่มีความตึงเครียดจาปัญหาที่บ้าน  หรือจากการดำเนินชีวิตระจำวันส่วนใหญ่แล้วก็จะมีการหันหน้าเข้าวัด  ฟังธรรม  นอกจากนี้การหาเพื่อนคุยเพื่อปรับทุกข์  หรือการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม  หรือประเพณีต่าง ๆ ของหมู่บ้านก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยคลายคามเครียดของผู้สูงอายุได้

บรรณานุกรม
กระทรวงสาธารณสุข. (2540) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กรุงเทพมหานคร.
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2553). สถิติผู้สูงอายุ. กรุงเทพมหานคร.

รายชื่อผู้ให้ข้อมูล
1.  นายไทย  โยธี  อายุ  78  ปี  ชาวบ้านปราสาทเยอ  จังหวัดศรีสะเกษ
2.  นางผาย  โยธี. อายุ  67  ปี ชาวบ้านปราสาทเยอ  จังหวัดศรีสะเกษ
3.  นางเพียย  เบาะ  อายุ  70  ปี ชาวบ้านปราสาทตาพรม  เสียมเรียบ  ประเทศกัมพูชา
4.  นายปิติ  โรล  อายุ  35  ปี  ชาวบ้านกัมปงจาม  ประเทศกัมพูชา







วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มิติทางสังคมในการลดปัญหาการทำแท้ง

                                                                                                                               โดย           อำไพ  มีสิทธิ์

บทคัดย่อ
                การศึกษาเรื่องมิติทางสังคมในการลดปัญหาการทำแท้ง มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานความต้องการในการทำแท้ง  และเพื่อใช้มิติทางสังคมในการลดปัญหาการทำแท้งโดยกระบวนการมีส่วนร่วม โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ การศึกษาจากเอกสารและการศึกษาภาคสนาม โดยใช้วิธีการสังเกต การสัมภาษณ์ ผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจง ประกอบด้วยผู้ทำแท้ง (จม๊อบ)  กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15 – 44  ปี  วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล    ตามแนวคิดทฤษฎีมานุษยวิทยา และแนวคิดความเชื่อด้านสุขภาพของเบคเกอร์และคณะ(1974) ผลการศึกษา พบว่า  กระบวนการมีส่วนร่วมช่วยลดปัญหาการทำแท้งได้  เนื่องจากมีการแสดงความคิดเห็น  แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน  เป็นความร่วมมือของวัด  โรงเรียน พระสงฆ์  และประชาชนในท้องถิ่นโดยจากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักและการสรุปผลจากการสัมภาษณ์  พบว่า  ทุกคนไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง  เนื่องจากเป็นการฆ่าคน  ผิดศีล 5    ตามหลักของศาสนาพุทธ  และไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมอีกด้วย

บทนำ
                ขณะที่โลกก้าวเข้าสู่สภาวะเพียงนิ้วคลิกชีวิตก็เปลี่ยน แต่เรื่องราวของกรรมกลับดูจะมีสถานะและรูปลักษณ์ไม่แตกต่างจากยุคพระเวท แม้ในแง่หนึ่งพลังของกรรม จะสามารถสะกดความละโมบ โหดร้าย รุนแรง ให้อ่อนจางบางลงในความรู้สึกของมนุษย์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการติดต่อสื่อสารส่งผลให้เรื่องราวเกี่ยวกับกรรมได้กลายเป็นอีกหนึ่ง สินค้าต้นทุนต่ำ ที่มีผู้นิยมบริโภคสูง  ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความผันผวนทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เหล่า ยอดมนุษย์ซึ่งมีความสามารถพิเศษในการสแกนกรรม ปรากฏโฉมเป็นผู้ชี้นำหนทางสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ทนทางเศรษฐกิจในระดับปัจเจก ซึ่งถูกอ้างว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของกรรม ในอดีต โดยเฉพาะกรรมยอดนิยมที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นต้นเหตุของปัญหา (ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจส่วนบุคคล) ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการทำแท้ง  สิ่งที่น่าสนใจจากคำตัดสินของเหล่าผู้นำลัทธิกรรมนิยมทางเศรษฐกิจ ก็คือ ผลกรรม

                นักมานุษยวิทยาไม่ได้มองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดหรือไม่ผิด แต่ให้ความสำคัญกับ ความหมายที่คนกลุ่มนั้นหรือคนในสังคมนั้นมีต่อเรื่องนั้นๆ และภายใต้ความหมายนั้นเขาจัดการให้ตัวเขาเองอยู่รอดในสังคมที่มีระบบโครงสร้างอย่างไร งานของนักมานุษยวิทยานำเอานัยยะสำคัญนั้นขึ้นมาและทำงานต่อไป จากงานวิจัยที่ได้ไปสัมภาษณ์ผู้ที่มีประสบการณ์ท้องไม่พร้อม 80 คน ในปี 2545 ซึ่ง 20 คน ทำแท้งมาแล้วปลอดภัยดี อีก 20 คนทำแล้วมีภาวะแทรกซ้อน ขณะที่ 20 คนยังไม่ได้ตัดสินใจจะทำหรือไม่ทำ ส่วน 20 คนสุดท้ายเก็บท้องไว้ พบว่าไม่มีสักคนเดียวที่บอกว่าตัวเองไม่ผิด ทุกคนพูดเหมือนกันว่า รู้สึกแย่ ทุกวันนี้ใส่บาตร ทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้กับเด็กที่ไม่ได้คลอด และพิธีซิโกเด็ก หรือพิธีทำบุญส่งวิญญาณทารกแท้ง ชี้ให้เห็นว่าคนที่ไปทำแท้งด้วยเหตุผลใดก็ตามเขารู้สึกผิดบาป เพราะเขาเกิด และเติบโตขึ้นมาในสังคมไทยไม่ว่าศาสนาใดเราจะเห็นโครงสร้างทางวัฒนธรรมครอบงำเขาอยู่อย่างแน่นหนา  จากตัวอย่างหญิงชาวบ้านลูก 4 ซึ่งผ่านการทำแท้งมาแล้ว 5 ครั้ง เธอให้เหตุผลว่าเลี้ยงไม่ไหวเพราะหาเช้ากินค่ำ แม้จะทำหมันแล้วก็ยังมีลูกอีก สามีจึงไม่ยอมให้ทำอีก เพราะเสียเวลาทำมาหากิน ส่วนกรณีที่กลัวกันว่าหากกฎหมายอนุญาตจะทำให้เกิดการทำแท้งเสรีนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะการทำแท้งเสรีหมายถึงอยากทำเมื่อไหร่ก็ทำได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เมื่อทำแล้วจะรู้สึกปลอดจากพันธนาการทางสังคม วัฒนธรรมและศาสนา  ปัจจุบันกฎหมายห้ามทำแท้งไม่มีผลในทางปฏิบัติ ขณะที่แพทยสภาให้ทำแท้งได้หากมีผลต่อสุขภาพจิตของหญิงตั้งครรภ์นั้น (กนกวรรณ ธราวรรณ. 2543 : 25) 
ปัญหาแม่วัยรุ่นตั้งครรภ์และคลอดบุตรเป็นเรื่องที่น่าห่วง ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากตัวเลขในปี 2552 มีวัยรุ่นหญิงอายุ 15 ปีตั้งครรภ์ไม่พร้อมสูงถึง 1 หมื่นคน และทารกที่เกิดสุขภาพไม่แข็งแรง น้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน บางรายน้ำหนักตัวเพียง 500 กรัมทั้งยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิต  เด็กวัยรุ่นและผู้หญิงที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมโทรศัพท์มาปรึกษาเกี่ยวกับการทำแท้งประมาณ 200 คนต่อเดือน หากนับรวมกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและไม่กล้าโทรศัพท์มาปรึกษาตัวเลขจะเพิ่มมากขึ้น เป็นปัญหาที่น่าห่วง ทั้งยังสะท้อนถึงการหาทางออกไม่ได้ของผู้หญิงตั้งครรภ์  แต่บางครั้งการตั้งครรภ์และการให้กำเนิดบุตรมักจะนำความชื่นชมยินดีมาสู่สตรีที่ตั้งครรภ์และครอบครัวอย่างมากถ้าการตั้งครรภ์นั้นเกิดขึ้นในบุคคลที่มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย  จิตใจและสังคม  ในทางตรงกันข้ามถ้าการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในผู้ที่ไม่พร้อมในทุก ๆ ด้านก็จะทำให้การตั้งครรภ์นั้นเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์  ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมามากมายทั้งทางด้านสุขภาพของมารดา  ครอบครัวและสังคม 
                จังหวัดสุรินทร์ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้เล็งเห็นความสำคัญและสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของสังคมในปัจจุบัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม อาทิเช่น ยาเสพย์ติด ปัญหาความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายในกลุ่มวัยรุ่น ปัญหาครอบครัว การพัวพันกับอบายมุข เหล้า การพนัน ซึ่งนำมาสู่ภาวะเสี่ยงอื่น ๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การมั่วสุมทางเพศ การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และการทำแท้ง หรือแม้กระทั่งการเสี่ยงต่อการกระทำผิดตามกฎหมาย  นอกจากนี้ก็พบว่าขณะนี้ปัญหาวัยรุ่น โดยเฉพาะปัญหาพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมของวัยรุ่นกำลังกลายเป็นปัญหาสังคมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน เช่น เด็กผู้หญิงถูกข่มขืนกระทำชำเรา การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควรจนตั้งครรภ์ การทำแท้ง รวมถึงการติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มาจากหลายปัจจัย การมีสื่อทางอินเตอร์เน็ตกระตุ้นอารมณ์เพศ  มีสถานเริงรมย์ที่เอื้อให้ประชาชนหมกมุ่นทางเพศเพิ่มขึ้น รวมทั้งสถาบันครอบครัวและศาสนาที่อ่อนแอลง  จึงทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา  จากการที่ปัญหาการทำแท้งในวัยเจริญพันธุ์มีอัตราการเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ต้องมีการดำเนินการแก้ไขเพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นและลดอัตราการเพิ่มจำนวนผู้ทำแท้ง  เพื่อลดภาวะเสี่ยงของโรคต่าง ๆ และปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาหลังการทำแท้งด้วย  สถานการณ์การทำแท้งในอำเภอเมือง  จังหวัดสุรินทร์  ปี  2551  มีจำนวน 1,302  คน ปี  2552  มีจำนวน  1,403  คน  ปี  2553  มีจำนวน  1,702  คน  ในส่วนของตำบลแกใหญ่ปี  2551  มีจำนวน  110  คน  ปี  2552  มีจำนวน 124  คน  ปี 2553  มีจำนวน  133  คน (สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ . 2554 : 36) 
จากการสัมภาษณ์การลงพื้นที่ภาคสนามได้ข้อมูลที่เป็นเชิงประจักษ์เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง  คือ        หมอตำแยยังมีวิธีการในการทำแท้ง 3 ขั้นตอน คือ หนึ่งการใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้หยิกปากมดลูกและเลาะปากมดลูกเพื่อให้มดลูกเปิด  สองดันปากมดลูกขึ้นใช้นิ้วหัวแม่มือกดที่คอมดลูกจนเกิดเสียงดัง  และสามกดที่เหนือหัวเหน่าด้วยหัวแม่มือทั้งสองข้างพร้อมกัน  การกระทำเช่นนี้จะทำให้ได้รับอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งซึ่งมีมากมายหลายประการ  เช่น  ปวดท้องมาก  ตกเลือด  มีไข้สูง  มดลูกทะลุ  ปากมดลูกฉีกขาด  อันตรายจากยาชาและยาสลบ  ภาวะเลือดไม่แข็งตัว  ภาวะโซเดียมคั่งในเลือด  ภาวะพิษจากน้ำเนื่องจากได้รับออกซิโทชินจำนวนมาก  การอุดกั้นของหลอดเลือดดำในปอดจากน้ำคร่ำหรือฟองอากาศ  ผู้ที่ทำแท้งบ่อย ๆ จะทำให้เป็นหมัน  แท้งซ้ำและการตั้งครรภ์นอกมดลูกในเวลาต่อมา
                การทำแท้งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมส่งผลต่อสภาวะจิตใจและคนในสังคมไม่ยอมรับ  เป็นผลกรรมและเป็นตราบาปติดตัวไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล  โดยแม้แต่ในกำแพงของนครวัดก็ยังมีการแกะสลักหินเป็นภาพของการลงโทษผู้ที่ทำแท้ง  โดยจากการสัมภาษณ์ไกด์นำเที่ยวที่นครวัด         เมืองเสียบเรียบ  ประเทศกัมพูชานั้น  สรุปได้ว่า 
                “การทำแท้งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง  เป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม  เป็นเวรเป็นกรรมติดตัว  และเมื่อเสียชีวิตไปก็จะตกนรกและถูกทำโทษ”
                                                                                (ปิติ  โรล. 2554 : ธันวาคม 24)
                “คนเขมรจะไม่ให้ทำแท้งเพราะจะเป็นบาป ”            
                                                                                                                 (มา  ทาล. 2554 : ธันวาคม  24)

                นอกจากการสัมภาษณ์ชาวต่างประเทศถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำแท้งแล้วยังมีการสัมภาษณ์คนในประเทศไทยเพื่อทำการเปรียบเทียบถึงวามคิดเห็นเกี่ยวกับการทำแท้ง  สรุปได้ว่า
                “การที่จะท้องได้จะต้องมีการแต่งงานก่อน ถ้ามีการตั้งครรภก่อนแต่งงานจะผิดผีจะเอ็ง  จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยตาย  ดังนั้นต้องมีการแต่งงานกันก่อนซึ่งความเชื่อนี้ช่วยลดปัญหาของการทำแท้งได้”
                                                                                (ศรีนวล  โยธี. 2554 : กันยายน  11)
                มีความรู้สึกว่ามันเป็นการกระทำที่อันตรายต่อชีวิตเรามากอาจถึงแก่ชีวิตเราได้เป็นการกระทำที่ไม่น่าจะแนะนำให้ลูกหลานได้ทำเราเป็นผู้ใหญ่แล้วจึงควรที่จะแนะนำให้ลูกหลานรู้จักโทษของมันซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติตามสื่อ ”
                                                                                                                       (สุปราณี แผ่นทอง. 2554 : มิถุนายน 22)
               
บทสรุป
            ปัญหาการทำแท้งเป็นปัญหาที่บั่นทอนสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์  ซึ่งจากการสังเกตและสัมภาษณ์ของผู้วิจัย  พบว่าผู้หญิงหลังแท้งมีภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง  เช่น  ติดเชื้อ ในกระแสโลหิต ไตวาย  ตกเลือดและมดลูกทะลุ  รวมทั้งพบว่า อัตราการตายของผู้หญิงจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัย ในปี  2553   สูงถึง 300 ต่อ  100,000 ราย  ของผู้หญิงที่ทำแท้ง ซึ่งสูงกว่าการตายของมารดาจากการคลอดเป็นหลายเท่า
          ปัญหาการแท้งที่ไม่ปลอดภัย  ส่วนใหญ่เกิดจากความยากจน  ขาดความรู้  ขาดความช่วยเหลือจากสังคมและคนรอบข้าง   (ประเสริฐ  ยงคง. 2554 : กันยายน 18) การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ของคู่รักที่อยู่ในวัยเรียน     การท้องไม่มีพ่อ  หรือความไม่พร้อมทางด้านครอบครัว เป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้  ถ้ารู้จักใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างเหมาะสม และถ้าหากเกิดความผิดพลาดในการคุมกำเนิด  หรือไม่ได้คุมกำเนิด การทำแท้งก็ไม่ใช่วิธีการยุติปัญหา การตั้งครรภ์ที่ไม่ได้มีการวางแผนหรือไม่พึงประสงค์ เป็นปัญหาสาธารณสุขและสังคมที่สำคัญและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุเพราะ ขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การใช้วิธีคุมกำเนิดที่ไม่ถูกต้องและการเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด หากผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่ได้รับคำปรึกษาและความช่วยเหลือที่ถูกต้อง ก็จะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองอย่างไม่ถูกต้องและไม่ปลอดภัย เป็นผลให้เกิดปัญหาสุขภาพกาย จิตใจ ครอบครัว และสังคมตามมา ท้ายที่สุดความพยายามที่จะสิ้นสุดการตั้งครรภ์ด้วยวิธีต่าง ๆ จึงเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่งของสังคมไทยเราจึงต้องเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนและประชาชนทั่วไปในสังคมไทย  และควรช่วยกันตระหนักถึงปัญหารวมทั้งช่วยกันหาวิธีการลดปัญหาการทำแท้ง   การหาทางป้องกันและแก้ไขในเรื่องของการทำแท้งเพื่อให้ประชาชนและเยาวชนในสังคมไทยมีสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดีต่อไปในอนาคตและลดปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่จะเกิดตามมาด้วย


เอกสารอ้างอิง
กนกวรรณ  ธราวรรณ. (2543).  บันทึกประสบการณ์ของผู้หญิงที่ตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม. (รายงานการวิจัย).  เอกสาร
                  ประกอบการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ทางเลือกของผู้หญิงที่ตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม  จัดโดยกองวางแผน
                  ครอบครัวและประชากร  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม  มหาวิทยาลัยมหิดล  สถาบันกฎหมายอาญา 
                  สำนักงานอัยการสูงสุด  ศูนย์คุ้มครองผู้ติดเชื้อเอดส์  และสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี.  
สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ . (2554).  สถิติประชากรจังหวัดสุรินทร์.  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์.

รายชื่อผู้ให้ข้อมูล
1.  นายปิติ  โรล อายุ  35  ปี  ชาวบ้านกังปงจาม  ประเทศกัมพูชา
2.  นายประเสริฐ  ยงคง อายุ  61  ปี ผู้ใหญ่บ้านนาเกา  อำเภอเมือง  จังหวัดสุรินทร์
3.  นางสุปราณี แผ่นทอง  อายุ  44  ปี ชาวบ้านนาเกา  อำเภอเมือง  จังหวัดสุรินทร์
4.  นางมา  ทาล  อายุ  32  ปี  ชาวเสียมเรียบ  ประเทศกัมพูชา
5.  นายศรีนวล  โยธี  อายุ  65  ปี  ชาวบ้านปราสาทเยอ  จังหวัดศรีสะเกษ




ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการใช้สมุนไพร

      โดย  ปพิชญา  ไชยเหี้ยม

บทคัดย่อ
                บทความนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะเสนอถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของการใช้สมุนไพรในวิถีชีวิตของคนในชุมชน  เนื่องจากปัจจุบันโลกประสบปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร  เนื่องจากการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ที่ผ่านมามักถูกกำหนดด้วยวิธีการเหมือน ๆ กัน  โดยละเลยความสำคัญของความหลากหลายทางภูมิปัญญา  รวมไปถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นด้วย ทำให้การพัฒนาดังกล่าวไม่ยั่งยืน  สาเหตุของปัญหาดังกล่าวมาจากแนวความคิด  ความรู้  ที่เรียกรวมขั้นต้นว่า ภูมิปัญญาสมัยใหม่  การพัฒนาประเทศด้านภูมิปัญญาสมัยใหม่นี้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมด้านสุขภาพอนามัยและการรักษาพยาบาล  กล่าวคือ  มนุษย์ทุกกลุ่มทุกสังคมมีการพัฒนาและสั่งสมความรู้ด้านการรักษาพยาบาลมานานก่อนที่จะเกิดการพัฒนาการแพทย์ตะวันตกแผนใหม่  แต่เนื่องจากระบบการรักษาพยาบาลแบบดั้งเดิมของมนุษย์ไม่แยกกันเด็ดขาดระหว่างกายกับใจ  การรักษาพยาบาลโดยใช้สมุนไพรแบบดั้งเดิมนั้นจึงมักจะใช้ควบคู่ไปกับพิธีกรรมและเวทย์มนต์คาถา  จึงทำให้แพทย์แผนใหม่มองว่าการแพทย์พื้นบ้านเป็นเรื่องงมงาย มนุษย์จึงละเลยความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นไป
  
บทนำ
โลกกำลังประสบกับปัญหาในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์   ประเทศไทยก็มีปรากฏการณ์ดังกล่าวให้เห็นอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากว่ารูปแบบการพัฒนาที่ผ่านมามักถูกกำหนดด้วยวิธีการเหมือน ๆ กัน  โดยละเลยความสำคัญของความหลากหลายทางภูมิปัญญา  รวมไปถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นด้วย  นอกจากนั้นยังต้องมีการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ  ทำให้การพัฒนาดังกล่าวไม่ยั่งยืน  สาเหตุของปัญหาดังกล่าวมาจากแนวความคิด  ความรู้ที่เรียกรวมขั้นต้นว่า ภูมิปัญญาสมัยใหม่  การพัฒนาประเทศด้านภูมิปัญญาสมัยใหม่นี้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมด้านสุขภาพอนามัยและการรักษาพยาบาล  กล่าวคือ  มนุษย์ทุกกลุ่มทุกสังคมมีการพัฒนาและสั่งสมความรู้ด้านการรักษาพยาบาลมานานก่อนที่จะเกิดการพัฒนาการแพทย์ตะวันตกแผนใหม่  แต่เนื่องจากระบบการรักษาพยาบาลแบบดั้งเดิมของมนุษย์ไม่แยกกันเด็ดขาดระหว่างกายกับใจ  การรักษาพยาบาลโดยใช้สมุนไพรแบบดั้งเดิมนั้นจึงมักจะใช้ควบคู่ไปกับพิธีกรรมและเวทย์มนต์คาถา  จึงทำให้แพทย์แผนใหม่มองว่าการแพทย์พื้นบ้านเป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระ   ความรู้ด้านสมุนไพรจึงพลอยถูกกล่าวหาว่าไม่น่าเชื่อถือภูมิปัญญาในด้านนี้  จนกระทั่งอุตสาหกรรมยาในประเทศตะวันตกเริ่มให้ความสนใจสนับสนุนให้ทุนวิจัยค้นคว้าตัวยาจากสมุนไพรเพื่อผลิตเป็นยา และเคมีภัณฑ์ใหม่ ๆ   ออกมาขาย  จึงทำให้ผู้คนสนใจในเรื่องการศึกษาวิจัยสมุนไพรอย่างแพร่หลาย
บทบาทของสมุนไพรในปัจจุบัน
                จากการที่สมุนไพรได้รับความนิยมและสนใจมากขึ้นจึงส่งผลให้การแพทย์แผนไทยมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นด้วยเช่นกัน  โดยที่การบริการทางสุขภาพแผนไทยนั้นเป็นระบบการดูแลสุขภาพของท้องถิ่นที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านสอดคล้องกับความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาตั้งแต่โบราณ  ดังนั้นในการรักษาในระบบแพทย์แผนไทยนี้จึงมีการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีการถ่ายทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษในเรื่องการใช้สมุนไพรต่าง ๆ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้รักษาโรคที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชนมากขึ้นด้วยเช่นกัน  ทำให้สมุนไพรมีบทบาทที่สำคัญในการรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ในเบื้องต้น  เป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาได้อาศัยสมุนไพรและยาแผนโบราณจากสมุนไพร สำหรับการรักษาในเบื้องต้นด้วยเช่นกัน  ประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นนั้นจะมีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคโดยใช้สมุนไพรอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้มีการปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องนานนับพันปี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินเดียมีการผลิตยาจากสมุนไพรเป็นจำนวนมาก  ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 23,000 ล้านบาท  เนื่องจากประเทศอินเดียอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีสภาวะสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายและมีการใช้สมุนไพรมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนั้นได้มีการส่งออกวัตถุดิบพืชสมุนไพรไปยังประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อใช้ในการผลิตยา อุตสาหกรรมเครื่องหอม เครื่องสำอาง และน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น  สำหรับประเทศไทยนั้น        มีภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญงอกงามของพืชนานาชนิด เช่นกัน  โดยเฉพาะพืชสมุนไพรมีอยู่มากมายเป็นแสน ๆ ชนิด ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและจากการเพาะปลูก บางชนิดก็ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาแผนปัจจุบัน สมุนไพรหลายชนิดถูกนำมาใช้ในรูปของยากลางบ้าน ยาแผนโบราณ รากฐานของวิชาสมุนไพรไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดียเป็นส่วนใหญ่ เพราะตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติไทยได้อพยพถิ่นฐานมาจากบริเวณเทือกเขาอัลไตน์ ประเทศจีน      มาจนถึงประเทศไทยในปัจจุบัน จึงมีส่วนได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ตลอดจนการบำบัดรักษาโรคจากประเทศอินเดียเป็นจำนวนมาก  ซึ่งมีผู้ประมาณว่าในแต่ละปีมีผู้ใช้สมุนไพรในประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากป่าไม้ถูกทำลาย ทำให้ต้องมีการรณรงค์ให้มีการปลูกเป็นสวนสมุนไพรขึ้น (กฤษณา ไกรสินธุ์. 2550 : 10)

                ภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้สมุนไพร
การใช้สมุนไพรของหมอพื้นบ้านถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ล้ำค่าของสังคมไทยที่เกิดจากปรัชญาของหมอพื้นบ้านที่สามารถจำแนกแยกแยะฤทธิ์และสรรพคุณของสมุนไพรจากธรรมชาติเพื่อใช้ในการเยียวยารักษาความเจ็บป่วย  การรักษาโดยระบบการแพทย์พื้นบ้านจึงเป็นระบบการรักษาโรคแบบประสบการณ์ของชุมชน      ที่ได้รับการสั่งสมถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ  มีความหลากหลายแตกต่างกันไปแต่ละสังคมวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์  ได้มีการพัฒนาการใช้สมุนไพรในระบบการแพทย์พื้นบ้านมาอย่างต่อเนื่อง  โดยถือว่าสมุนไพรเป็นรูปแบบการรักษาหลักของระบบการแพทย์พื้นบ้าน  และสมุนไพรยังคงมีบทบาทในการดูแลสุขภาพของประชาชนมาโดยตลอด  คนไทยโบราณจึงผูกพันกับหมอพื้นบ้านและยาสมุนไพรในการดูแลรักษาสุขภาพของชุมชน (ยุคล     ละม้ายจีน. 2550 : บทคัดย่อ) 
สมุนไพรนอกจากใช้เป็นยารักษา  บรรเทาอาการของผู้ป่วย  แล้วยังเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ที่ยังไม่ป่วย  ทำให้เกิดสมดุลของการทำงานของร่างกาย  เสริมภูมิต้านทานและป้องกันโรค บางชนิดได้ด้วย  ในภาวะที่มีความต้องการการใช้สมุนไพรเพิ่มขึ้น  กลับพบว่าประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรอย่างเป็นระบบ  ข้อมูลของสมุนไพรจำนวนมากถูกปล่อยปละละเลย  ขาดการสืบทอด  และรวบรวม  ส่วนใหญ่ได้สูญหายไปตามอายุขัยของหมอพื้นบ้าน  การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้  ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้  สมุนไพรมีจำนวนลดลง  ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการหาสมุนไพรมาใช้รักษาโรคของหมอพื้นบ้าน สมุนไพรจะมีความหลากหลายไปตามสภาพนิเวศวิทยาของแต่ละท้องถิ่น  การนำพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค  และการใช้ประโยชน์ด้านอื่น    จึงมีความหลากหลายแตกต่างกันไปด้วย  ความหลากหลายของพืชสมุนไพรและความหลากหลายของภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้สมุนไพรรักษาโรคต่าง    เป็นความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับมนุษย์ที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเป็นเวลายาวนาน  แสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอย่างยั่งยืน  แต่ในปัจจุบัน  ป่าซึ่งเป็นแหล่งของสมุนไพรตามธรรมชาติ  ได้ลดอย่างรวดเร็ว  ทำให้พืชสมุนไพรลดลง  และบางชนิดอาจสูญพันธุ์ไป  ขณะเดียวกันการจากไปของบรรพบุรุษพร้อมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น  ในการใช้สมุนไพรเนื่องมาจากถูกทอดทิ้ง  และไม่เห็นความสำคัญจากคนรุ่นหลัง  (คีรีบูน  จงวุฒิเวศย์และคณะ .2549 : บทคัดย่อ) 
                พืชสมุนไพร เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ ที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้เป็นประโยชน์ เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่โบราณกาลแล้ว เช่น ในเอเชียก็มีหลักฐานแสดงว่ามนุษย์รู้จักใช้พืชสมุนไพรมากว่า 6,000 ปี แต่หลังจากที่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีการสังเคราะห์ และผลิตยาจากสารเคมี ในรูปที่ใช้ประโยชน์ได้ง่าย สะดวกสบายในการใช้มากกว่าสมุนไพร ทำให้ความนิยมใช้ยาสมุนไพรลดลงมาเป็นอันมาก เป็นเหตุให้ความรู้วิทยาการด้านสมุนไพรขาดการพัฒนา ไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ในปัจจุบันทั่วโลกได้ยอมรับแล้วว่าผลที่ได้จากการสกัดสมุนไพร ให้คุณประโยชน์ดีกว่ายา ที่ได้จากการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับในประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อันอุดมสมบูรณ์ มีพืชต่าง ๆ ที่ใช้เป็นสมุนไพรได้อย่างมากมายนับหมื่นชนิด ยังขาดก็แต่เพียงการค้นคว้าวิจัยในทางที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นเท่านั้น     โดยในหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณด้านการสาธารณสุขในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียไปกับการรักษาโรคด้วยวิธีการทางการแพทย์สมัยใหม่  จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขในปีงบประมาณ 2551  ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุขมีมูลค่าถึง  142,192  ล้านบาท  เนื่องจากเป็นการรักษาแบบการแพทย์แผนตะวันตกและตะวันออกจึงต้องสิ้นเปลืองงบประมาณไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำเข้ามา  (จักรพงศ์  แท่งทอง. 2550 : บทคัดย่อ)
จากการสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมากทำให้ประชาชนหันมาสนใจการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคอันเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่เพิ่มมากขึ้นจึงส่งผลให้มีผู้สนใจในเรื่องของสมุนไพรเป็นจำนวนมาก  ดังจะเห็นได้จากการศึกษาวิจัยในหลาย ๆ เรื่อง  เช่น  งานวิจัยของ โอภาส  ชามะรัมย์ (2545) ศึกษาภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านกับการใช้สมุนไพรบำบัดรักษาความเจ็บป่วย  กรณีศึกษา นายแวว  วงศ์คำโสม  บ้านโคนผง  ตำบลสานตม  อำเภอภูเรือ  จังหวัดเลย  ผลการศึกษาพบว่าวิธีบำบัดรักษาความเจ็บป่วยของหมอพื้นบ้านจะใช้สมุนไพรและเวทย์มนตร์คาถา  ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่มารับการรักษาส่วนมากเคยได้รับการรักษาจากหมอแผนปัจจุบันมาก่อน  เมื่อไม่หายจึงมารักษากับหมอพื้นบ้าน ในขั้นตอนการเตรียมการหมอพื้นบ้านจะเตรียมสมุนไพรและวัตถุสิ่งของบูชาด้วยตนเอง  มีการวินิจฉัยโรคโดยการคลำชีพจร  หลอดลม  นิ้วมือ  และมีการสอบถามอาการ  ขั้นตอนการบำบัดรักษาจะใช้สมุนไพรจากพืชโดยวิธีการต้ม  ฝน  ละลายน้ำเพื่อให้ดื่ม  และใช้ประคบบริเวณที่เจ็บปวด  และขั้นตอนการประเมินการรักษาจะพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยที่มารับการบำบัดรักษา  และสอบถามจากผู้ป่วยโดยตรง  นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ ปัทมานันท์  หินวิเศษ  (2549)  ศึกษาหมอพื้นบ้านกับการรักษาผู้ป่วยด้วยสมุนไพร กรณีศึกษาตำบลขามป้อม  อำเภอพระยืน  จังหวัดขอนแก่น ผลการศึกษาพบว่า หมอพื้นบ้านมีการแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ หมอสมุนไพร  หมอเป่า  หมอกระดูก  และหมอจับเส้น  สำหรับกระบวนการรักษาผู้ป่วยเป็นไปในแนวเดียวกัน คือ  มีขั้นสอบประวัติ  ขั้นตรวจร่างกาย  ขั้นรักษา  หมอสมุนไพรจะจัดยาเป็นชุดให้ผู้ป่วยต้มดื่ม  หมอเป่าจะทำความสะอาดหัวฝี  ท่องคาถากำกับ ฝนเห็ดบนหินลับมีดนำไปพอกที่หัวฝี  หมอกระดูกต้องบูชาครูก่อนรักษาด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์  เป็นต้น


                ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้สมุนไพรของคนในสมัยก่อนนั้นจะมีการใช้สมุนไพรโดยกินเป็นอาหารก่อนเป็นลำดับแรก  ซึ่งมีคำพูดประโยคหนึ่งที่มักจะได้ยินคนในสมัยก่อนพูดเสมอว่า  กินปลาเป็นหลัก  กินผักเป็นยา  กินกล้วยน้ำหว้า  บำรุงร่างกาย  ซึ่งจากประโยคนี้แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกินที่บ่งบอกว่ากินเพื่อให้เป็นสมุนไพรช่วยในการรักษาโรคมนร่างกาย  ซึ่งอาหารหลายอย่างในชุมชนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นอาหารจำพวกน้ำพริก  และก็มีผักเป็นองค์ประกอบหลักของอาหารด้วย  นอกจากนี้การใช้สมุนไพรมาอบผ้าให้มีกลิ่นหอมก็เป็นการใช้สมุนไพรในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างยิ่ง  โดยชาวบ้านมีการนำสมุนไพร 5  ชนิด  คือ  เล็บครุฑ  ไพล  ผลตะครอง  แฝกหอม  เปราะหอม  นำสมุนไพรทั้ง 5 ชนิดนี้มาตำให้ละเอียดยกเว้นใบเล็บครุฑที่ไม่ต้องตำ  จากนั้นก็เอาไปห่อด้วยไปตองแล้วย่างจนสุกและเอาไปตากแดดไว้ให้แห้งจากนั้นจึงนำผ้าที่เราต้องการจะอบกลิ่นมาห่อสมุนไพรที่ตากแห้งแล้วจากนั้นนำไปนึ่งสักครู่แล้วก็นำผ้าที่ผ่านการนึ่งแล้วมาย้อมดำเพื่อไม่ให้เห็นรอยเปื้อนจากสมุนไพร  และเอาไปซักและตากให้แห้ง  ก็จะได้ผ้าที่หอมมีกลิ่นติดนาน   ผ้าจะหอมนานไม่จางหายจนกว่าผ้านั้นจะขาดไปเลยทีเดียว  และอีกอย่างการอบผ้าด้วยสมุนไพรนี้ก็ยังช่วยป้องกันในเรื่องของสัตว์หรือแมลงที่จะมาทำลายผ้าของเราได้อีกด้วย  แต่ประโยชน์ที่แฝงลึกลงไปนั้นผู้เขียนบทความคิดว่าการใช้ไพลเป็นส่วนผสมหนึ่งในการอบผ้านั้นอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยในเรื่องของระบบหายใจซึ่งไพลเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ช่วยในเรื่องของหอบหืดได้อีกด้วย  นอกจากการใช้สมุนไพรในการอบผ้าแล้วก็ยังมีสมุนไพรในการอบตัวหรือผิว  ซึ่งก็มีการนำสมุนไพรมาใช้อีกเช่นกัน  โดยการนำมะกรูด  ไพล  รางจืด  มาเป็นส่วนผสมในการใช้เป็นสมุนไพรในการอบผิวโดยการนำไปต้มและปล่อยไอจากการต้มสมุนไพรเข้ามาในห้องอบตัวทำให้ผู้เข้าไปอบได้รู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น  จะเห็นได้ว่าการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ล้วนเกิดจากภูมิปัญญาที่คนในท้องถิ่นได้รับสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น  ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างมาก  (เปี่ยม  เสียงเพราะ . สัมภาษณ์ : 2554)
                นอกจากนี้แล้วชาวบ้านในชนบทส่วนใหญ่จะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการคิดค้นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อีก  เช่น  การทำปูนกินหมากจากเปลือกหอย  ซึ่งเป็นการนำเศษเปลือกหอยที่ไม่มีประโยชน์แต่กลับนำมาประยุกต์ใช้โดยใช้ภูมิปัญญาให้กลับมาเป็นของที่มีประโยชน์ได้  นอกจากจะเป็นการช่วยลดขยะแล้วยังเป็นการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกด้วย

บทสรุป 
จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของพืชสมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้สมุนไพรรักษาโรคต่าง    มานาน  แต่การตัดไม้ทำลายป่า  และการจากไปของบรรพบุรุษ   ผู้มีภูมิปัญญาท้องถิ่น   ทำให้พืชสมุนไพรและวิธีการใช้พืชสมุนไพรรักษาโรคต่าง    มีน้อยลง    ทุกที    และอาจหายไปในช่วงเวลาไม่นาน และเนื่องจากป่าถูกบุกรุกทำลาย  ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษา  วิจัย  ถึงความเป็นมาเป็นไปในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร  และวิธีใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น  เพื่อเป็นการอนุรักษ์และนำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป  และจากกระแสการหันกลับมาสู่ธรรมชาติ   การหันมาใช้วิถีธรรมชาติบำบัดในการดูแลสุขภาพ  การใช้สมุนไพรบำบัดรักษาแทนการรักษาโรคด้วยวิธีทางการแพทย์แผนใหม่ เพื่อยับยั้งการสูญเสียเงินของตนเอง  ของจังหวัด  จนไปถึงระดับประเทศชาติ  จนกระทั่งเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ  และเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องมีการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของการใช้สมุนไพร  เพื่อทราบวิธีในการใช้ประโยชน์สมุนไพรของแต่ละชุมชน  และร่วมกันหาแนวทางร่วมกันสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชสมุนไพร  โดยอาศัยภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่น  ให้มีการดำรงอยู่และมีการใช้พืชสมุนไพรอย่างยั่งยืนภายในชุมชน  อันจะเป็นการพัฒนาศักยภาพขององค์กร  ชุมชน  ให้เกิดความเข้มแข็ง  และสามารถพึ่งตนเองได้ต่อไป 

เอกสารอ้างอิง
กฤษณา ไกรสินธุ์. (2550).  ของฝากจากอินเดีย.  กรุงเทพมหานคร. สถาบันวิจัยและพัฒนา.
คีรีบูน  จงวุฒิเวศย์และคณะ (2549).  พฤติกรรมการดูแลสุขภาพและสมุนไพร.  กรุงเทพมหานคร :
        สำนักงานกองทุนการวิจัย ชุดโครงการวิจัยด้านการศึกษากับชุมชน. 
จักรพงศ์  แท่งทอง. (2550).  พืชสมุนไพรในวิทยาเขตบ้านยางน้อย. อุบลราชธานี : มหาวิทยาลัย
              ราชภัฏอุบลราชธานี.
เปี่ยม  เสียงเพราะ.  สัมภาษณ์เมื่อ  18  ธันวาคม  2554 
ยุคล  ละม้ายจีน. (2550).  ความหลากหลายของพืชสมุนไพรและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตาม
            ภูมิปัญญาท้องถิ่นในจังหวัดอุบลราชธานี.  อุบลราชธานี : มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.